คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการจดทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้
มท. เสนอว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้มีข้อตกลงระหว่างประเทศในการเปิดเสรีการค้าและบริการ ซึ่งครอบคลุมถึงบริการด้านวิศวกรรม ที่ต้องมีการเปิดตลาดการค้าบริการให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมสามารถเคลื่อนย้ายทำงานภายในระหว่างประเทศที่ได้มีการข้อตกลงร่วมกันไว้ได้ เช่น ข้อตกลงการค้าเสรี [free Trade Area : FTA] กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซ๊ยน [ASEAN Framework Agreement on Service : AFAS] และข้อตกลงยอมรับร่วมของอาเซียนด้านบริการวิศวกรรม [ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Engineering service] แต่พระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 ยังไม่มีบทบัญญัติในการกำหนดวัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่ของสภาวิศวกรได้อย่างชัดเจน ในการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพข้ามชาติเพื่อให้มีบทบัญัติที่รองรับการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ตามข้อผูกพันระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ทำไว้แล้วและที่จะมีขึ้นในอนาคต เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์เพิ่มเติมของสภาวิศวกรในการรับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม และรับจดทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมหรือวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ซึ่งมีความประสงค์จะประกอบวิชาชีพในต่างประเทศ รวมถึงการจดทะเบียนวิศวกรต่างด้าวที่จะเข้ามาประกอบวิชาชีพวิศวกรรมหรือวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามข้อตกลงยอมรับร่วมของอาเซียนด้านบริการวิศวกรรมหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
สาระสำคัญของร่างฎกระทรวง
กำหนดวัตถุประสงค์ของสภาวิศวกรเพิ่มเติม ดังนี้
1. รับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม
2. รับจดทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมหรือวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ซึ่งมีความประสงค์จะประกอบวิชาชีพในต่างประเทศ ตามข้อตกลงยอมรับร่วมของอาเซียนด้ารบริการวิศวกรรม หรือข้อตกลงระหว่างประเทศอื่น ๆ
3. จดทะเบียนวิศวกรต่างด้าวที่จะเข้ามาประกอบวิชาชีพวิศวกรรมหรือวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ตามข้อตกลงยอมรับร่วมของอาเซียนด้านบริการวิศวกรรมหรือข้อตกลงระหว่างประเทศอื่น ๆ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 กันยายน 2559--