ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการทรัพยากรแร่แห่งชาติ พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday October 4, 2016 18:45 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการทรัพยากรแร่แห่งชาติ พ.ศ. .... และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

2. มอบหมายให้ ทส. อก. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประชุมหารือร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อยุติเกี่ยวกับการนำหลักการการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการทรัพยากรแร่แห่งชาติ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ของประเทศ ไปกำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

สาระสำคัญของร่างระเบียบ

1. กำหนดบทนิยามคำว่า "คณะกรรมการ" "การบริหารจัดการ" "ทรัพยากรแร่" "หน่วยงานของรัฐ" "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" และ "องค์กรเอกชน"

2. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการทรัพยากรแร่แห่งชาติ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ข้าราชการในสังกัดกรมทรัพยากรธรณีหรือกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ที่อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

3. กำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี การพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามที่กำหนด และในระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการตามที่กำหนดทำหน้าที่ไปพลางก่อน

4. กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ อาทิ เสนอยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ของประเทศ เสนอแนะแนวทางหรือมาตรการเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ของประเทศอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการในกรณีที่ปรากฏว่าการดำเนินงานของคณะกรรมการตามกฎหมายหรือหน่วยงานของรัฐไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ของประเทศ และเสริมสร้างความร่วมมือและประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ภายใต้กลไกประชารัฐในเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ของประเทศ เป็นต้น

5. กำหนดให้ ทส. และ อก. ร่วมกันจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ที่มีศักยภาพในการทำเหมืองแร่ของประเทศ รวมถึงการประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละพื้นที่

6. กำหนดให้คณะกรรมการต้องคำนึงถึงอำนาจหน้าที่ตามกฏหมายของหน่วยงานของรัฐ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และหลักการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด และเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ของประเทศแล้ว ให้กรมทรัพยากรธรณีแจ้งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ

7. กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ของประเทศให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ แล้วแจ้งคณะรัฐมนตรีทราบ

8. กำหนดให้กรมทรัพยากรธรณี (ทส.) ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการ มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการ ศึกษาและวิเคราะห์แนวโน้มและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ของประเทศเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา

9. กำหนดให้ค่าใช้จ่ายสำหรับเบี้ยประชุม ค่าตอบแทน รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ ไปเบิกจ่ายได้ตามระเบียบของทางราชการ โดยเบิกจ่ายจากประมาณของกรมทรัพยากรธรณี

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 ตุลาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ