คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการของการบริหารงานเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของการบริหารงานเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน มีมาตราการและวิธีการดำเนินการ ดังนี้
มาตรการที่ 1 ดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ได้แก่
1) ประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้าร่วมไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบและให้คิดดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนด คือ ไม่เกินร้อยละ15 ต่อปี
2) ให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบ โดย กค. จะจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยประเภทใหม่ และให้คิดอัตราดอกเบี้ยได้ในระดับที่คุ้มค่าแต่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยจากการให้บริการหนี้นอกระบบ
3) เร่งรัดให้ร่างพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. .... มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ให้สินเชื่อที่เรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา เป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4) ประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย
มาตรการที่ 2 เพิ่มช่องทางเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้ลูกหนี้นอกระบบและประชาชน ได้แก่
1) กค. กำหนดให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยประเภทใหม่ คือ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกโฟแนนซ์) เพื่อให้เจ้าหนี้นอกระบบให้บริการสินเชื่อรายย่อยในระบบได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และประชาชนที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายฉุกเฉินสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ แทนการกู้ยืมนอกระบบ
2) ธ.ออมสิน และ ธ.ก.ส. จัดตั้งหน่วยธุรกิจ (Business Unit) เพื่อรับผิดชอบภารกิจด้านการแก้ไขหนี้นอกระบบโดยเฉพาะ แยกออกมาจากโครงการสร้างการดำเนินงานตามปกติของธนาคาร
มาตรการที่ 3 ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ จัดให้มีจุดให้คำปรึกษาใน ธ.ออมสิน และ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ โดยให้ทั้งสองธนาคารประสานงานกับคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ย ประนอมหนี้นอกระบบประจำกรุงเทพมหานครหรือประจำจังหวัด ซึ่งมีอธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน หรืออัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด เป็นประธาน เพื่อไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบให้เกิดมูลหนี้ที่เป็นธรรม ก่อนที่ ธ.ออมสิน และ ธ.ก.ส. จะพิจารณาสินเชื่อตามศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบแต่ละรายต่อไป
มาตรการที่ 4 เพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบ ลูกหนี้นอกระบบที่ไม่มีศักยภาพในการหารายได้หรือมีความสามรถในการชำระหนี้ต่ำจะได้รับการฟื้นฟูอาชีพ ผ่านกลไกของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบประจำกรุงเทพมหานครหรือประจำจังหวัด ซึ่งมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยมุ่งเน้นให้มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม ปลูกฝังความรู้และวินัยทางการเงิน รวมถึงฝึกอบรมอาชีพหรือทักษะฝีมือแรงงานอย่างเข้มข้น นอกจากนี้ อาจพิจารณาให้ทุนสนับสนุนในการประกอบอาชีพตามความเหมาะสม ตลอดจนมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้กลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีก
มาตรการที่ 5 สนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรการเงินชุมชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
1) พัฒนาเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชน โดย กค. ธ.ออมสิน ธ.ก.ส. สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กรมการพัฒนาชุมชน และหน่วยงานอื่นจะให้ความรู้ทางการเงินและกฎหมายและให้การสนับสนุนอื่น ๆ เพื่อพัฒนากระบวนการแก้ไขหนี้นอกระบบ นอกจากนี้ หากองค์กรการเงินชุมชนมีวงเงินให้กู้ยืมไม่เพียงพอ ธ.ออมสิน และ ธ.ก.ส. อาจจะให้การสนับสนุนได้
2) เผยแพร่ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน โดย กค. ร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจและองค์กรการเงินชุมชน ในการเผยแพร่ความรู้และทักษะเกี่ยวกับการบริหารจัดการทางการเงินส่วนบุคคลแก่ประชาชนฐานราก เช่น การออมเงิน การวางแผนทางการเงิน จัดทำบัญชีครัวเรือน และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับภัยของหนี้นอกระบบ ตลอดจนช่องทางขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ
3) จัดทำฐานข้อมูลหนี้นอกระบบของประเทศ โดย กค. พัฒนาฐานข้อมูลและเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพื่อประเมินผล วิเคราะห์ข้อมูล และกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 4 ตุลาคม 2559--