คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ ให้มีการทบทวนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่
(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/60 และ
(2) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2559/60 เพื่อจูงใจให้มีการเก็บสต็อกเพิ่มเพื่อรักษาระดับราคาข้าวในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากเพิ่มขึ้น
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า นบช. ประชุมเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 พิจารณาการทบทวนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด ซึ่งมีมติดังนี้
1. เห็นชอบการทบทวนโครงการสินเชื่อมชะลอการขายช้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/60 และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกปีการผลิต 2559/60 ดังนี้
1.1 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/60
1.1.1 ผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ จากเดิม
1) เกษตรกรรายคนกำหนดวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 300,000 บาท และ
2) สหกรณ์การเกษตร กำหนดวงเงินกู้สูงสุดไม่เกินสหกรณ์ละ 300 ล้านบาท ปรับเป็น
1) เกษตรกรรายคน กำหนดวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 300,000 บาท
2) สหกรณ์การเกษตร กำหนดวงเงินกู้สูงสุดไม่เกินสหกรณ์ละ 300 ล้านบาท
3) กลุ่มเกษตรกร กำหนดวงเงินกู้สูงสุดไม่เกินกลุ่มละ 20 ล้านบาท และ
4) วิสาหกิจชุมชนกำหนดวงเงินกู้สูงสุดไม่เกินวิสาหกิจชุมชนละ 5 ล้านบาท
1.1.2 ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก จากเดิม ให้ค่าเก็บค่ารักษาข้าวเปลือกตันละ 1,500 บาท โดยจ่ายให้ผู้เข้าร่วมโครงการเมื่อมีการไถ่ถอนข้าวเปลือกหลังจากเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 30 วัน หรือเข้าร่วมมาตรการระบายข้าวเปลือกที่กำหนด ปรับเป็น ให้เก็บค่ารักษาข้าวเปลือกตันละ 1,500 บาท โดยจ่ายค่าเตรียมข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการในวันที่เบิกรับเงินกู้ 1,000 บาท และจ่ายเพิ่มอีกตันละ 500 บาท ในวันที่ไถ่ถอนข้าวเปลือก หลังจากเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 30 วัน หรือเข้าร่วมมาตรการระบายข้าวเปลือกที่กำหนด
1.1.3 การระบายข้าวเปลือก จากเดิม กรณีเกิดภาระส่วนต่างระหว่างราคาที่โครงการกำหนดในการให้สินเชื่อกับราคาที่ขายได้เกิดภาระขาดทุน ปรับเป็น กรณีเกิดภาระส่วนต่างระหว่างราคาที่โครงการกำหนดในการให้สินเชื่อกับราคาที่ขายได้ ทำให้มีภาระขาดทุนจากการดำเนินโครงการ และขอให้รัฐบาลชดเชยภาระขาดทุนที่เกิดขึ้นแทนผู้เข้าร่วมโครงการ
1.2 โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2559/60
1.2.1 อัตราการชดเชยดอกเบี้ย จากเดิม ชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต็อกไว้ 60-180 วัน นับแต่วันที่เบิกจ่ายหรือออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ปรับเป็น ชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต็อกไว้ 60-90 วัน และชดเชยดอกเบี้ยในอัตราเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4 เพื่อเก็บสต็อกข้าวตั้งแต่วันที่ 91-180 วัน นับแต่วันที่เบิกจ่ายหรือออกตั๋วสัญญาใช้เงิน
1.2.2 วงเงินค่าใช้จ่าย จากเดิม วงเงินชดเชยค่าใช้จ่าย รวมทั้งสิ้น 940 ล้านบาท จำแนกเป็นวงเงินชดเชยดอกเบี้ 937.50 ล้านบาท และวงเงินดำเนินการ 2.50 ล้านบาท ปรับเป็น วงเงินชดเชยค่าใช้จ่าย รวมทั้งสิ้น 1,306.50 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 366.50 ล้านบาท)
1.2.3 วงเงินสินเชื่อของผู้เข้าร่วมโครงการ จากเดิม ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ ฯ ยื่นความประสงค์ผ่านธนาคารผู้ให้กู้ยืม และธนาคารกลั่นกรองวงเงินสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์ในการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรเพื่อเก็บสต็อกตามโครงการฯ ปรับเป็น ขอความร่วมมือธนาคารพิจารณา กรณีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ประสงค์เพิ่มวงเงินสินเชื่อให้มีวงเงินใกล้เคียงกับสต็อกที่เป็นหลักประกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกู้ยืมเงินของผู้เข้าร่วมโครงการฯ ที่มีสินทรัพย์อื่นเป็นหลักประกันรวมอยู่ด้วย เนื่องจากในการเข้าร่วมโครงการฯ มีหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบสต็อกเป็นประจำทุกเดือน
1.2.4 การจัดสรรวงเงิน จากเดิม คณะอนุกรรมการพิจารณาชดเชยดอกเบี้ยฯ จะจัดสรรวงเงินของผู้ประกอบการที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ให้อยู่ภายในกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติ เป้าหมายการเก็บสต็อก 8 ล้านตัน ปรับเป็น คณะอนุกรรมการพิจารณาชดเชยดอกเบี้ยฯ จะจัดสรรวงเงินให้ผู้ประกอบการที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ที่รับซื้อข้าวจากเกษตรกรนาแปลงใหญ่เต็มวงเงินกู้เป็นลำดับแรกก่อน เพื่อดึงอุปทานส่วนเกินออกจากตลาดและเห็นชอบในหลักการกรณีเกินกรอบเป้าหมายและวงเงินที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเพิ่มเติมจะขอรับการจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 ตุลาคม 2559--