คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบหลักการเพื่อประกาศเป็นนโยบาย “ปี 2559 ปีแห่งความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ” และผลการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ ให้ ศธ. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เพื่อให้การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เป็นไปตามเป้าหมาย ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษทุกคน เข้าถึงบริการที่ครบทุกด้าน ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 10 บัญญัติให้การจัดการศึกษาต้องให้บุคคลที่มีสิทธิและโอกาสเสมอกัน ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพหรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้หรือไม่มีผู้ดูแลหรือผู้ด้อยโอกาส ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิ และโอกาสรับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ โดย ศธ. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการ ดังนี้
1) จัดบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม (Early Intervention : EI) การคัดกรอง การประเมินความสามารถพื้นฐาน และส่งเสริมพัฒนาการบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษทุกคนให้มีความพร้อมเข้าสู่การศึกษาขั้นพื้นฐาน
2) จัดให้บุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษทุกคนที่อยู่ในวัยเรียน ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพและเสมอภาค โดยการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม (Inclusive Education)
3) จัดให้บุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ มีความพร้อมในการดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขและการประกอบอาชีพหลังจบการศึกษา โดยจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ (Transition from School to work)
4) จัดอบรม สัมมนาให้ครู คณาอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับการส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาคุณภาพให้สามารถจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ให้ปี 2559 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษแล้ว เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการตามแนวนโยบายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลสัมฤทธิ์การบริการความช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม (Early Intervention : EI) สำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษปรากฏตามภาคผนวกของเอกสารแนวทางความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนงานที่กำหนดต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 ตุลาคม 2559--