เรื่อง การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 22 (COP 22) การประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 12 (CMP 12) และการประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส สมัยที่ 1 (CMA 1)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The Conference of the Parties to the UNFCCC : COP) สมัยที่ 22(COP 22) การประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต (the Conference of the Parties serving as the Meeting of the Parties to the Kyoto Protocol : CMP) สมัยที่ 12 (CMP 12) และการประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส (the Conference of the Parties serving as the Meeting of the Parties to the Paris Agreement) สมัยที่ 1 (CMA 1)
2. เห็นชอบต่อกรอบท่าทีเจรจาของไทยสำหรับใช้ในการประชุม COP 22 การประชุม CMP 12 และการประชุม CMA 1
3. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขท่าทีการเจรจาฯ ที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้เป็นดุลยพินิจของ ทส. และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เป็นผู้พิจารณาจนสิ้นสุดการประชุม COP 22 การประชุม CMP 12 และการประชุม CMP 1 ณ เมืองมาร์ราเกซ ราชอาณาจักรโมร็อกโก
สาระสำคัญของเรื่อง
1. องค์ประกอบคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติฯ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ผู้แทนพิเศษของประธานกลุ่ม 77 สำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Special Representative of the Chair of the Group of 77 and China for Climate Change) เป็นรองหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย กรณีที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยไม่ได้พำนักในราชอาณาจักรโมร็อกโก ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งครอบคลุมหัวข้อการเจรจาทุกเรื่องและมีความเหมาะสม
2. กรอบท่าทีเจรจาของไทยสำหรับใช้ในการประชุม COP 22 การประชุม CMP 12 และการประชุม CMP 1 เน้นย้ำการดำเนินงานภายใต้อนุสัญญาฯ รวมถึงภายใต้ความตกลงปารีสจะคำนึงถึงหลักการของความเป็นธรรม (Equity) ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างโดยคำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละประเทศ (Common but Differentiated Responsibilities and Respective Capabilities) การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) การขจัดความยากจน (Poverty Eradication) รวมถึงหลักการเข้าถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นธรรม (Equitable access to sustainable development) และหลักการสากลอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับพันธกรณีตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคี
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 ตุลาคม 2559--