ทบทวนโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/60

ข่าวการเมือง Tuesday November 8, 2016 17:53 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ทบทวนโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/60

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการทบทวนโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/60 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/60

(1) พื้นที่ดำเนินการ ให้ขยายพื้นที่และชนิดข้าวตามโครงการฯ ดังนี้

1) พื้นที่ปลูกข้าวเปลือกหอมมะลิทุกจังหวัด (ขาวดอกมะลิ 105 และ กข.15) ทั่วประเทศ จากเดิมกำหนดเฉพาะในเขตพื้นที่ 23 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

2) พื้นที่ปลูกข้าวเปลือกเจ้านาปี และข้าวเปลือกปทุมธานี 1

(2) เป้าหมาย ให้ ธ.ก.ส.จ่ายสินเชื่อการขายผลิตผลเพิ่มเติม โดยใช้ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขตพื้นที่ 23 จังหวัด และนอกเขตพื้นที่ เป็นหลักประกัน จำนวนประมาณ 2 ล้านตัน ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 เป็นหลักประกัน จำนวนประมาณ 1 ล้านตัน

(3) กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตัน

1) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขตพื้นที่ 23 จังหวัด กำหนดวงเงินสินเชื่อและค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก เช่นเดียวกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิในเขตพื้นที่ 23 จังหวัด

2) ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 สิ่งเจือปนไม่เกินร้อยละ 2 ในอัตราไม่เกินร้อยละ 90 ของราคาตลาด โดยพิจารณาจากราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกเจ้าในปัจจุบันที่ประมาณตันละ 7,800 บาท วงเงินสินเชื่อต่อตัน 7,000 บาท

3) ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 สิ่งเจือปนไม่เกินร้อยละ 2 ในอัตราไม่เกินร้อยละ 90 ของราคาตลาด โดยพิจารณาจากราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ในปัจจุบันที่ประมาณตันละ 8,700 บาท วงเงินสินเชื่อต่อตัน 7,800 บาท

(4) ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ให้มีค่าใช้จ่ายในการตากข้าวเปลือกและค่าแรงงานในการเตรียมข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการฯ เช่นเดียวกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ จึงให้ค่าตากข้าวเปลือกและค่าแรงงานในการเตรียมข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการ ตันละ 1,500 บาท โดยจ่ายเป็นค่าเตรียมข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการในวันเบิกรับเงินกู้ 1,000 บาท และจ่ายเพิ่มอีกตันละ 500 บาท ในวันที่ไถ่ถอนข้าวเปลือกหลังจากเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 30 วัน

(5) กรณีเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนหากราคาข้าวเปลือกในตลาดต่ำกว่าวงเงินสินเชื่อต่อตันให้ ธ.ก.ส. พิจารณาขยายระยะเวลาไถ่ถอนและชำระคืนออกไปไม่เกิน 3 เดือน และให้มีคณะกรรมการระบายข้าว ประกอบด้วย กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ ธ.ก.ส. ดำเนินการระบายข้าวเปลือกที่ใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ดังกล่าว หากเกิดภาระส่วนต่างระหว่างราคาที่โครงการกำหนดในการให้สินเชื่อกับราคาจากการระบาย รัฐบาลจะชดเชย ส่วนต่างดังกล่าวให้ ธ.ก.ส.

การจ่ายเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ให้แก่เกษตรกรรายย่อย ผู้ปลูกข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 เพื่อช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อย โดยใช้ฐานข้อมูลเกษตรกรที่ได้รับเงินสนับสนุนตามโครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุน การผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 โดยกำหนดจ่ายให้แก่เกษตรกร ตันละ 2,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ หรือไม่เกินกว่าที่ให้กับข้าวหอมมะลิไม่เกิน 12,000 บาท ต่อครัวเรือน ทั้งรายที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/60 และไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ โดย ธ.ก.ส. โอนเงินเข้าบัญชีให้กับเกษตรกร ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 25560

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 พฤศจิกายน 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ