คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เสนอ ดังนี้
1. ให้ข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ลาอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครบกำหนดปัญญาสมวาร (50 วัน) หรือสตมวาร (100 วัน) คราวละ 9 วัน จำนวน 2 คราว โดยไม่ถือเป็นวันลา เสมือนเป็นการปฏิบัติราชการและได้รับเงินเดือนปกติ ดังนี้
1.1 เตรียมการจนถึงวันลาสิกขา ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน 2559-6 ธันวาคม 2559 (วันที่ 1 ธันวาคม 2559 เป็นวันครบกำหนดปัญญาสมวาร)
1.2 เตรียมการจนถึงวันลาสิกขา ระหว่างวันที่ 16-25 มกราคม 2560 (วันที่ 20 มกราคม 2560 เป็นวันครบกำหนดสตมวาร)
2. การใช้สิทธิการลาตามข้อ 1. ดังกล่าว ให้สิทธิแก่ข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่เคยลาอุปสมบทระหว่างรับราชการมาแล้ว สามารถจะลาอุปสมบทเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลตามมติคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ได้อีก
3. ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่เคยลาอุปสมบทระหว่างรับราชการ หากได้ลาอุปสมบทเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลตามมติคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้แล้ว ไม่มีผลกระทบถึงสิทธิในการลาอุปสมบทในอนาคต ซึ่งเป็นการใช้สิทธิการลาอุปสมบทครั้งแรกตั้งแต่เริ่มราชการ ตามระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555 โดยยังคงได้สิทธิการลาอุปสมบทและยังคงได้สิทธิในการรับเงินเดือนระหว่างลาไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ตามพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
4. ผู้ลาอุปสมบทจะต้องเข้าร่วมอุปสมบทในโครงการที่ส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนร่วมกับคณะสงฆ์จัดขึ้นเป็นโครงการอย่างชัดเจน และมีการจัดอบรมตามหลักสูตรสำหรับผู้บวชระยะสั้นที่คณะสงฆ์กำหนด ภายในระยะเวลาที่กำหนดของโครงการแต่ไม่เกิน 9 วัน หากอุปสมบทเป็นเอกเทศโดยไม่ได้เข้าร่วมโครงการตามที่กำหนด จะไม่ได้รับสิทธิในการลาตามมติคณะรัฐมนตรี
สาระสำคัญของเรื่อง
พศ. รายงานว่า
1. พศ. ได้เสนอเรื่อง การอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 23/2559 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2559 เพื่อเป็นการบำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศลเมื่อครบกำหนดปัญญาสมวาร (50 วัน) และสตมวาร (100 วัน) ซึ่งที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบให้วัดพิชยญาติการาม กรุงเทพมหานคร (ในนามมหาเถรสมาคม) เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และเจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัด ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดจัดพิธีอุปสมบท จำนวน 89 รูป เป็นระยะเวลาคราวละ 9 วัน และให้ พศ. เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ กรณีข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ประสงค์จะลาอุปสมบทเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในช่วงเวลาดังกล่าว โดยไม่ถือเป็นวันลา เสมือนเป็นการปฏิบัติราชการและได้รับเงินเดือนตามปกติ โครงการดังกล่าวสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1.1 วัตถุประสงค์
1) เพื่อบำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครบกำหนดปัญญาสมวาร (50 วัน) และสตมวาร (100 วัน)
2) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยการศึกษาและปฏิบัติธรรมตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาตามแนวทางที่ถูกต้องอย่างแพร่หลาย
1.2 เป้าหมาย ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จำนวนไม่น้อยกว่า 6,853 คน
1.3 สถานที่ดำเนินการ
ส่วนกลาง: ณ วัดพิชยญาติการาม กรุงเทพมหานคร และวัดที่คณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคม พศ.และหน่วยงานภาครัฐจัดขึ้นตามสถานที่ที่กำหนดในเขตกรุงเทพมหานคร
ส่วนภูมิภาค: ณ วัดที่เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมบำเพ็ญพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งจังหวัด พศ. จังหวัด ร่วมกับคณะสงฆ์จัดขึ้นตามมติมหาเถรสมาคม
1.4 ระยะเวลาดำเนินการ คราวละ 9 วัน จำนวน 2 คราว ดังนี้
1) เตรียมการจนถึงวันลาสิกขา ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน 2559 – 6 ธันวาคม 2559 (วันที่ 1 ธันวาคม 2559 เป็นวันครบกำหนดปัญญาสมวาร)
2) เตรียมการจนถึงวันลาสิกขา ระหว่างวันที่ 16 – 25 มกราคม 2560 (วันที่ 20 มกราคม 2560 เป็นวันครบกำหนดสตมวาร)
1.5 แนวทางดำเนินการ
1) ต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจน
2) ต้องจัดทำเป็นโครงการ มีการกำหนดรายละเอียดในเรื่องต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน
3) การจัดพิธีการต่าง ๆ ต้องเป็นไปอย่างสมพระเกียรติเรียบง่าย ประหยัดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
4) ให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้ร่วมกิจกรรมโดยทั่วกัน และให้ข้าราชการเป็นต้นแบบแก่ประชาชนในการเข้าร่วมกิจกรรมโดยให้สิทธิในการลาอุปสมบทบำเพ็ญกุศลถวายเป็น พระราชกุศลได้โดยไม่ถือเป็นวันลา
1.6 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
1) งบประมาณปกติของหน่วยงานหรือส่วนราชการที่จัดโครงการ
2) การร่วมบริจาคสมทบของพุทธศาสนิกชนและผู้ร่วมอุปสมบท
2. การบรรพชาอุปสมบทในโอกาสดังกล่าว ผู้เข้าร่วมอุปสมบทจะได้มีโอกาสรับการศึกษาและเรียนรู้หลักในการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ได้รับการฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นคนดีมีศีลธรรม และได้ร่วมบำเพ็ญกุศลโดยการเจริญจิตตภาวนาถวายพระราชกุศล
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 พฤศจิกายน 2559--