เรื่อง การเจรจาการจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (Voluntary Partnership agreement : VPA) ในการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า (FLEGT) ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
1. กรอบการเจรจาการจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (Voluntary Partnership Agreement : VPA) ในการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า (Forest Law Enforcement, Governance and Trade : FLEGT) ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป (EU)
2. ท่าทีการเจรจาการจัดทำ VPA ในการบังคับใช้ FLEGT ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป (EU)
3. หลักการในการดำเนินการตามกรอบการเจรจาการจัดทำ VPA
4. มอบหมายให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทนเป็นหัวหน้าคณะเจรจาฯ
สาระสำคัญของกรอบการเจรจาการจัดทำ VPA ประกอบด้วย
1. ท่าทีการเจรจาการจัดทำ VPA ของไทย เช่น
1) การเจรจาจะต้องพิจารณาให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศให้มากที่สุด
2) การเจรจาจะใช้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือกฎหมาย ภายในประเทศที่มีอยู่ หากจะต้องมีการปรับแก้กฎหมายหรือตรากฎหมายขึ้นมาใหม่ จะกระทำเพื่อวัตถุประสงค์ คือ ในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทยและสอดคลอ้งกับข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยต้องไม่ลิดรอนสิทธิ์ของคนไทย รวมทั้งไม่เป็นการกีดกันทางการค้า
3) สหภาพยุโรปต้องไม่นำกฎระเบียบ EUTR มาเป็นเครื่องมือกีดดันทางการค้า แต่ควรพัฒนากฎระเบียบดังกล่าวเป็นเครื่องมือคัดกรอง และรับรองสินค้าในกลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์ไม้
4) มีมาตรการคุ้มครองหรือลดหย่อนพิธีการทางศุลกากรอำนวยความสะดวกให้กับผู้ส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้จากไทยไปยังสหภาพยุโรป ระหว่างวันที่ประเทศไทยยังจัดทำข้อตกลงดังกล่าวไปพลางก่อน
2. หลักการในการดำเนินการตามกรอบการเจรจาการจัดทำ VPA ในการบังคับใช้ FLEGT ระหว่างประเทศไทยกับ EU จะต้องดำเนินการภายใต้กรอบการเจรจาฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาไปแล้วเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 คณะกรรมการเจรจาฯ แต่งตั้งโดย ทส. จะเป็นคณะผู้แทนประเทศไทยในการประชุมร่วมเพื่อพิจารณาภาคผนวกที่จะใช้ประกอบข้อตกลง VPA
3. ประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดทำข้อตกลง VPA
1) เมื่อข้อตกลง VPA สำเร็จจนประเทศไทยได้รับสิทธิในการออกใบรับรองเฟล็กที (FLEGT License) จะช่วยให้ผู้ส่งออกสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ของประเทศไทยสามารถส่งสินค้าไปยังสหภาพยุโรปได้สะดวกและมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น รวมทั้ง เป็นการรักษาตลาดและขยายโอกาสทางการค้าของสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ของประเทศไทย ในตลาดสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดของผู้บริโภคที่มีความสามารถในการซื้อสูง ความสำคัญในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการยืนยันการประกอบการที่สอดคล้องกับธรรมาภิบาลของประเทศไทยในตลาดโลกอีกด้วย
2) นอกจากนี้ยังเป็นการยับยั้งการผลิตสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้จากแหล่งที่มาที่ผิดกฎหมาย หรือจากการบุกรุกทำลายป่า โดยจะช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์สร้างความยั่งยืนต่อป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร ความหลากหลายทางชีวภาพ การสงวนรักษาพันธุ์พืช สมุนไพร สัตว์ป่า และที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 ธันวาคม 2559--