ร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่..) พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday December 27, 2016 17:05 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่..) พ.ศ. ....ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป และมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไปพิจารณาต่อไปด้วย

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. แก้ไขหลักการในกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ซึ่งบัญญัติไว้ในหมวด 3/1 เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยกำหนดให้ลูกหนี้ที่ไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้โดยไม่ต้องรอให้ลูกหนี้อยู่ในสถานะมีหนี้สินล้นพ้นตัวเสียก่อน

2. เพิ่มเติมบทนิยาม “เจ้าหนี้มีประกัน” ให้มีความหมายรวมถึงผู้รับหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ตามร่างมาตรา 3 โดยกำหนดให้ “เจ้าหนี้มีประกัน” หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับหรือเหนือกว่าผู้รับจำนองหรือผู้รับจำนำ รวมถึงเจ้าหนี้ที่กฎหมายอื่นให้ถือว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันในคดีล้มละลาย

3. แก้ไขเพิ่มเติม โดยยกเลิกส่วนที่ 2 การล้มละลายเกี่ยวกับต่างประเทศในหมวด 8 บทบัญญัติเบ็ดเตล็ด แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 และเพิ่มเติมหมวด 9 การล้มละลายเกี่ยวกับต่างประเทศ โดยกำหนดบทนิยาม “กระบวนการพิจารณาต่างประเทศ” “กระบวนการพิจารณาหลักต่างประเทศ” “กระบวนพิจารณารองต่างประเทศ” “ผู้แทนต่างประเทศ” “ผู้จัดการทรัพย์สิน” “ศาลต่างประเทศ” และ “สถานประกอบการ” และกำหนดให้ศาลล้มละลายกลางมีอำนาจหน้าที่พิจารณาให้การรับรองกระบวนการพิจารณาต่างประเทศและให้ความร่วมมือกับศาลต่างประเทศ กำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิของเจ้าหนี้และผู้แทนต่างประเทศทางศาล กำหนดหลักการรับรองกระบวนพิจารณาต่างประเทศและการให้ความคุ้มครอง กำหนดหลักความร่วมมือกับศาลและผู้แทนต่างประเทศ

4. แก้ไขอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ได้แก่ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ ให้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์มีผลกับสถาบันการเงิน หรือนิติบุคคลที่ครอบครองทรัพย์สินของลูกหนี้ รวมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ให้มีส่วนในการช่วยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ในการรวบรวมทรัพย์สินและความรับผิดของผู้ทำแผนในกรณีที่ผู้ทำแผนก่อให้เกิดความเสียหาย

5. แก้ไขเพิ่มเติมให้กรมบังคับคดีจัดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ารับการฝึกอบรมก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งผ่านการอบรมดังกล่าวให้เป็นตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และในการกำหนดให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงยุติธรรม โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 ธันวาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ