กฎหมายสำคัญที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งรัดปรับปรุงหรือยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่ (ร่างพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....)

ข่าวการเมือง Tuesday January 10, 2017 15:46 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการให้มีระบบคัดกรองคนเข้าเมืองผิดกฎหมายตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) โดยใช้แนวทางในการออกระเบียบ และมอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย พ.ศ. .... ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

2. เห็นชอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในเรื่องนี้ รวมทั้งกำหนดให้การออกกฎกระทรวงเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตามร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ตรวจพิจารณาแล้ว

3. มอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการรับไปพิจารณาความจำเป็นในการจัดตั้ง “กรมกิจการคนเข้าเมือง” ตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทยต่อไป

สาระสำคัญของร่างระเบียบ

1. กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงแรงงาน อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการ และผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นกรรมการและเลขานุการ

2. กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย และผู้ลี้ภัย เช่น พิจารณากำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ และแนวทางการบริหารจัดการคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย พิจารณาคัดกรองคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัยกลุ่มต่าง ๆ ประสานงานและร่วมมือกับรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

3. กำหนดให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ใน ตช. ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ

4. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดกรองคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มกราคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ