เรื่อง การจัดทำร่างข้อตกลงว่าด้วยการรับรองประกาศนียบัตรคนประจำเรือระหว่างประเทศไทยกับประเทศเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ หมู่เกาะเคย์แมน ยิบรอลตาร์ บังกลาเทศ เมีนยมา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา โดมินิกา จีน อินเดีย หมู่เกาะมาร์แซลล์ มอลตาแอนติกาและบาร์บูดา อิตาลี ลักเซมเบิร์ก ฮัชไมต์จอร์แดน ฮอนดูรัส และนอร์เวย์ รวม 20 ประเทศ
คณะรัฐมนตรมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอการจัดทำร่างข้อตกลงว่าด้วยการรับรองประกาศนียบัตรคนประจำเรือระหว่างประเทศไทยกับประเทศเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์หมู่เกาะเคย์แมน ยิบรอลตาร์ บังกลาเทศ เมียนมา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา โดมินิกา จีน อินเดีย หมู่เกาะมาร์แซลล์ มอลตา แอนติกาและบาร์บูดา อิตาลี ลักเซมเบิร์ก ฮัชไมต์จอร์แดน ฮอนดูรัส และนอร์เวย์ รวม 20 ประเทศ และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปดำเนินการต่อไป และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างข้อตกลงฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงคมนาคมนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งให้ชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 (เรื่อง การจัดทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ)
คค. รายงานว่า
1. อนุสัญญา STCW 1978 กำหนดให้รัฐภาคีสามารถทำความตกลงทวิภาคีเพื่อรับรองประกาศนียบัตรให้แก่คนประจำเรือที่ออกโดยหน่วยงานผู้มีอำนาจระหว่างกันได้โดยการรับรองนั้นจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดตามอนุสัญญาฯ ซึ่งส่งผลให้คนประจำเรือของประเทศที่ทำความตกลงสามารถทำงานในเรือชักธงของกันและกันได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าได้ดำเนินการจัดทำข้อตกลงว่าด้วยการรับรองประกาศนียบัตรคนประจำเรือกับประเทศต่าง ๆ รวมแล้ว 12 ประเทศ ได้แก่ วานูอาตู บาฮามัส สิงคโปร์ ปานามา ไซปรัส อินโดนีเซีย ไลบีเรีย ตุรกี เบลิซ มาเลเซีย บาร์เบโดส ฮ่องกง
2. กรมเจ้าท่าเห็นควรจัดทำร่างข้อตกลงฯ เพิ่มเติมกับประเทศต่าง ๆ รวม 20 ประเทศ ได้แก่ ประเทศเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ หมู่เกาะเคย์แมน ยิบรอลตาร์ บังกลาเทศ เมียนมา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา โดมินิกา จีน อินเดีย หมู่เกาะมาร์แซลล์ มอลตา แอนติกาและบาร์บูดา อิตาลี ลักเซมเบิร์ก ฮัชไมต์จอร์แดน ฮอนดูรัส และนอร์เวย์ ทั้งนี้ การจัดทำร่างข้อตกลงฯ ซึ่งปัจจุบันคนประจำเรือไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของบริษัทเรือต่างชาติเป็นอย่างมาก ดังนั้น การจัดทำร่างข้อตกลงฯ จะเป็นการเปิดการเปิดตลาดให้เกิดการจ้างงานให้แก่คนประจำเรือไทยมากขึ้น
3. ร่างข้อตกลงฯ เป็นไปตามข้อกำหนอของอนุสัญญา STCW 1978 และมีสาระสำคัญเหมือนกับข้อตกลงฯ ที่ได้จัดทำกับ 12 ประเทศ โดยรัฐภาคีที่มีความประสงค์จะทำข้อตกลงทวิภาคีระหว่างกันต้องเป็นภาคีอนุสัญญา STCW 1978 โดยมีหลักการดังนี้
1) เมื่อมีการทำข้อตกลงทวิภาคีระหว่างกันแล้วรัฐภาคีหนึ่งจะออกประกาศนียบัตรรับรองประกาศนียบัตรของรัฐภาคีอื่นให้กับผู้ร้องขอ ซึ่งเป็นผู้ถือประกาศนียบัตรที่ออกโดยอีกรัฐภาคีหนึ่งได้ และยินยอมให้หน่วยงานที่มีอำนาจของรัฐภาคีอีกฝ่ายมีสิทธิในการดำเนินการตรวจสอบระบบการออกประกาศนียบัตรของรัฐภาคีนั้น
2) ก่อนที่รัฐภาคีจะออกประกาศนียบัตรรับรองประกาศนียบัตรของรัฐภาคีอื่น จะต้องมีกระบวนการที่ทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ถือประกาศนียบัตรของอีกรัฐภาคีหนึ่งมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายของรัฐภาคีนั้นที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือทะเลตามชั้นที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของผู้ขอรับประกาศนียบัตร
3) ประกาศนียบัตรรับรองประกาศนียบัตรของรัฐสภาคีอื่นที่ออกโดยรัฐภาคีหนึ่งจะไม่สามารถนำไปออกประกาศนียบัตรรับรองประกาศนียบัตรของรัฐภาคีอื่นโดยอีกรัฐภาคีหนึ่งได้
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 มกราคม 2560--