ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้

ข่าวการเมือง Tuesday January 31, 2017 17:34 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ (การแก้ไขเพิ่มเติมการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีสินค้าเกษตรประเภทข้าว)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ (การแก้ไขเพิ่มเติมการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีสินค้าเกษตรประเภทข้าว) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

2. มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องสำหรับ การกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินสำหรับการซื้อข้าวให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา หักภาษี ณ ที่จ่ายดังกล่าวต่อไป

กค. เสนอว่า

1. มาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 144 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 และคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ได้กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 0.75 เฉพาะกรณีผู้ซื้อข้าวที่เป็นผู้ส่งออก ประกอบกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 42) พ.ศ. 2559 กำหนดให้ปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากอัตราร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ เป็นอัตราร้อยละ 20 เป็นการถาวร ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป

2. โดยที่ระบบการค้าข้าวปัจจุบัน ประกอบด้วย กระบวนการผลิต การแปรรูป และการจำหน่ายโดยมีเกษตรกรเป็นหน่วยผลิตต้นน้ำ ผลิตในรูปของข้าวเปลือกแล้วขายให้โรงสี พ่อค้าข้าวเปลือก ตัวแทน/นายหน้า (หยง) และสถาบันเกษตรกรหรือสถาบันของรัฐบาล โดยข้าวเปลือกที่เกษตรกรขาย โรงสีจะทำการแปรรูปเป็นข้าวสารเพื่อส่งออกเองโดยตรง ขายให้หยง โดยหยงจะขายต่อให้กับผู้ส่งออก และขายให้ผู้ค้าส่ง โดยผู้ค้าส่งจะบรรจุเป็นข้าวถุงขายให้ผู้ค้าปลีก ระบบการค้าข้าวมีผู้ประกอบการทั้งที่เป็นนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาในหลายขั้นตอน แต่ข้อกฎหมายกำหนดให้เฉพาะนิติบุคคลผู้ซื้อข้าวที่เป็นผู้ส่งออกมีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้ที่จ่ายให้กับบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่เป็นผู้ขายเท่านั้น ส่งผลให้ข้อมูลการบริหารจัดเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากผู้ประกอบการค้าข้าวไม่ครบถ้วน ดังนั้น จึงเห็นควรปรับลดการจัดเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีสินค้าเกษตรประเภทข้าว เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพและระบบของการค้าข้าวในปัจจุบันที่มีกระบวนการและมีผู้เกี่ยวข้องหลายขั้นตอน และเพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้ที่มีการปรับลดอัตราลง

3. การปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายข้างต้น คาดว่าจะมีผลกระทบ ดังนี้

3.1 ช่วยลดภาระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ของผู้ขายสินค้าเกษตรประเภทข้าวที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้สูงกว่าภาระภาษีเงินได้ที่ต้องชำระ เนื่องจากการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือเป็นร้อยละ 20

3.2 ก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายทำให้มีฐานข้อมูลในการบริหารจัดเก็บภาษีผู้ประกอบการค้าข้าว ซึ่งจะช่วยป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

3.3 อาจจะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดของรัฐบาลในการจัดเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แต่ในภาพรวมจะทำให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง เป็นการกำหนดการคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับการจ่ายค่าซื้อพืชผลทางการเกษตร ดังนี้

1. การจ่ายค่าซื้อข้าว ร้อยละ 0.5

2. การจ่ายค่าซื้อพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ นอกจากข้อ 1. ร้อยละ 0.75

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 มกราคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ