คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้มีการพิจารณาบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ประจำปี 2559 ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ยธ. ในฐานะกรรมการและเลขานุการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติรายงานว่า เรื่องการพิจารณาบำเหน็จความชอบประจำปี เป็นกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2546 จนถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 และครั้งนี้ ยธ. ได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้บำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ประจำปี 2559 จำนวน 9,194 คน เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ทุ่มเทและเสียสละในการปฏิบัติงานทั่วประเทศ โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาความดีความชอบกรณีพิเศษ ประจำปีงบประมาณ 2559 ประกอบด้วย
1. หลักการพิจารณาจำนวนเจ้าหน้าที่ที่จะได้รับความดีความชอบกรณีพิเศษ ดังนี้
1) เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดโดยตรงหรือมีคำสั่งมอบหมายให้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด จากการสำรวจข้อมูลกำลังพลในปีงบประมาณ 2559 มีจำนวน 301,276 คน โดยมีข้อเสนอให้พิจารณาจำนวนที่ได้รับความดีความชอบพิเศษในอัตราไม่เกินร้อยละ 2.5 คิดเป็นจำนวนกำลังพลที่จะได้รับความดีความชอบพิเศษ จำนวน 7,532 อัตรา
2) เจ้าหน้าที่ที่ไม่มีภารกิจงานด้านยาเสพติดโดยตรงแต่ลักษณะงานมีภารกิจที่เกื้อกูลให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ หรือไม่มีรายชื่อในระบบทะเบียนกำลังพลจากการสำรวจข้อมูลกำลังพลในปีงบประมาณ 2559 จำนวน 332,328 คน โดยมีข้อเสนอให้พิจารณาจำนวนที่ได้รับความดีความชอบพิเศษในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5 หรือคิดเป็นจำนวนกำลังพลที่จะได้รับความดีความชอบพิเศษ จำนวน 1,662 อัตราเมื่อรวมทั้ง 2 ประเภทแล้ว เป็นจำนวนผู้ได้รับบำเหน็จความดีความชอบพิเศษฯ ทั้งสิ้น จำนวน 9,194 อัตรา
2. การดำเนินการเลื่อนเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้สมควรได้รับบำเหน็จความดีความชอบกรณีพิเศษให้แบ่งเป็น 2 ประเภท
1) ข้าราชการพลเรือนสามัญให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 ที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษนอกเหนือจากโควตาปกติของข้าราชการพลเรือนสามัญใหม่โดยกำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญให้ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากการเลื่อนเงินเดือนกรณีปกติอีกร้อยละ 1 ของฐานในการคำนวณเพื่อเลื่อนเงินเงินในแต่ละครึ่งปี ทั้งนี้ เมื่อรวมการเลื่อนเงินเดือนปกติกับการเลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษแล้ว จะต้องไม่เกินร้อยละ 6 ของฐานในการคำนวณ
2) ข้าราชการตำรวจ ทหาร หรือข้าราชการที่ยังใช้ระบบการเลื่อนเงินเดือนแบบขั้นเงินเดือน ให้เป็นไปตามข้อกำหนดเดิมคือเมื่อรวมกันขั้นปกติกับขั้นกรณีพิเศษแล้วต้องได้ 2 ขั้น สำหรับกรณีผู้ที่เงินเดือนเต็มขั้นให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.พ. กำหนด
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 มกราคม 2560--