เรื่อง ขออนุมัติการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านประมงระหว่างกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย และกรมประมง กระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และชลประทานแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบ (ร่าง) บันทึกความเข้าใจระหว่างกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยและกรมประมง กระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และชลประทานแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ว่าด้วยความร่วมมือด้านประมง
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ โดยกระทรวงการต่างประเทศไม่ต้องจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers)
3. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงบันทึกความเข้าใจดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบ ให้ กษ. ดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 (เรื่อง การจัดทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ) ด้วย
สาระสำคัญของ ร่าง MOU ว่าด้วยความร่วมมือด้านประมงระหว่างกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย และกรมประมง กระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และชลประทานแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มีดังนี้
1. วัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลการถ่ายทอดเทคโนโลยี การค้า การฝึกอบรม ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และความร่วมมือทางเทคนิค รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายในสาขาประมงระหว่างกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติต่อความร่วมมือในสาขาอื่น ๆ ที่อาจจะมีการพิจารณาในอนาคต
2. ขอบเขตความร่วมมือ ประกอบด้วย การต่อต้านการทำประมง IUU และการค้าสินค้าประมงที่ผิดกฎหมาย การดำเนินการตามมาตรการรัฐเจ้าของท่า การปรับปรุงในเรื่องการประสานงานความร่วมมือประมงและการจัดการประมงบริเวณรอยต่อทางทะเล การส่งเสริมการค้าสินค้าประมง การปรับปรุงการประสานงานการวิจัยด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างองค์กรระดับประเทศและองค์กรระดับภูมิภาคที่มีความเกี่ยวข้อง และสาขาที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจและเห็นชอบร่วมกัน
3. การจัดตั้งคณะทำงานร่วม จะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติของ MOU ฉบับนี้ โดยมีอธิบดีกรมเป็นหัวหน้าของคณะทำงานร่วมของแต่ละฝ่าย
4. รูปแบบความร่วมมือ เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการประมงและการค้าสินค้าสัตว์น้ำ ความช่วยเหลือด้านวิชาการ การทำการวิจัยประมงร่วมที่รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ การพัฒนาการตลาด และการส่งเสริมธุรกิจประมงและความสัมพันธ์ทางการค้า เป็นต้น
5. กิจกรรมร่วม คู่ภาคีจะสนับสนุนการริเริ่มกิจกรรมประมงร่วมผ่านองค์กรที่เกี่ยวข้อง (จากการประสาน กษ. ได้รับการยืนยันว่าการดำเนินกิจกรรมร่วมจะอยู่ภายใต้ขอบเขตความร่วมมือ ตามข้อ 2 เท่านั้น) โดยมีรายะเอียดต่าง ๆ ได้แก่ วัตถุประสงค์และระยะเวลาของข้อเสนอโครงการ การระบุลักษณะที่ชัดเจนของงานวิจัย โครงการและกิจกรรมบุคลากรที่รับผิดชอบ งบประมาณและการจัดทำรายงานผล
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 มกราคม 2560--