แนวทางความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงการขนส่งทางถนนระหว่างไทย-เมียนมา ภายใต้กรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ข่าวการเมือง Tuesday January 31, 2017 18:08 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการการให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมาในการปรับปรุงเส้นทางเอ็นดุ-ท่าตอน ในเมียนมา โดยมีกรมทางหลวงเป็นหน่วยงานดำเนินการและให้หารือร่วมกับกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณในการพิจารณารูปแบบการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวต่อไป

2. เห็นชอบในหลักการเร่งรัดผลักดันเมียนมาให้มีการเจรจาเพื่อจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจในการริเริ่มใช้ความตกลง CBTA (Initial Implementation of the Cross-Border Transport Agreement: IICBTA) จุดผ่านแดนแม่สอด-เมียวดี กับฝ่ายไทยเพื่อให้ได้ข้อยุติภายในระยะเวลา 2 เดือน

สาระสำคัญของการให้ความร่วมมือแก่เมียนมาในการปรับปรุงเส้นทางสายเอ็นดุ-ท่าตอน ขณะนี้เมียนมาอยู่ในระหว่างดำเนินการปรับปรุงเส้นทางทางถนนตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC) ในเมียนมาเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศและในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยในส่วนของเส้นทางที่จะต่อเชื่อมจากกอกะเร็ก-เอ็นดุ-พะอัน-ท่าตอน-พะยายี-ย่างกุ้ง นั้น เมียนมาอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงเส้นทางโดยแบ่งเป็นช่วง ดังนี้ ช่วงกอกะเร็ก-เอ็นดุ ระยะทาง 67 กิโลเมตร กำหนดแล้วเสร็จในปี 2562 ในส่วนของเส้นทางช่วงเอ็นดุ-ท่าตอน ระยะทาง 60 กิโลเมตรเป็นถนนลาดยางแบบบาง ผิวทางกว้างประมาณ 6 เมตร ไม่มีไหล่ทาง ผ่านภูมิประเทศแบบที่ราบสลับเนินเขา ปัจจุบันมีสภาพชำรุดเป็นบางช่วง และยังเป็นคอขวดที่ต้องการการปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐานทางหลวงอาเซียน และหากรัฐบาลไทยพิจารณาให้ความช่วยเหลือเมียนมาในการปรับปรุงเส้นทางในช่วงนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ให้มีการเชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์และได้มาตรฐาน จะเป็นการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการคมนาคมขนส่งระหว่างไทย-เมียนมา ลดต้นทุนการขนส่งและรองรับการขนส่งข้ามพรมแดนภายใต้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region Cross-border Transport Agreement: GMS CBTA) ซึ่งจะมีการเปิดเดินรถเต็มรูปแบบระหว่างประเทศสมาชิกในปี 2562

ทั้งนี้ การเร่งรัดผลักดันเมียนมาให้มีการเจรจาเพื่อจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจ IICBTA เนื่องจากการขนส่งระหว่างไทย-เมียนมา จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีกฎระเบียบรองรับซึ่งปัจจุบันไทยและเมียนมายังไม่มีความตกลงด้านการขนส่งทางถนนระหว่างกันจึงทำให้ประเทศไทยไม่สามารถรับรถที่จดทะเบียนในเมียนมาเข้ามาเพื่อทำการขนส่งในประเทศไทยได้ เนื่องจากจะเป็นการขัดต่อมาตรา 26 และมาตรา 126 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ดังนั้น จึงเห็นควรเร่งรัดการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจ IICBTA ณ จุดผ่านแดนแม่สอด-เมียวดี เพื่อรองรับการขนส่งระหว่างประเทศไทย-เมียนมา ซึ่งจะเกิดขึ้นต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 มกราคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ