คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปี 2560 เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและโครงการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ปี 2559/60 โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมทั้งอนุมัติงบประมาณในการดำเนินมาตรการเป็นวงเงินไม่เกิน 1,200 ล้านบาท โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามภาระที่เกิดขึ้นจริงตามขั้นตอนต่อไป และให้ ธ.ก.ส. ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ (สงป.) ในรายละเอียดต่อไป
2. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชน และโครงการสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของ SMEs ที่ประสบภัยน้ำท่วม ปี 2560 โดยธนาคารออมสิน
3. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยภาคใต้ ปี 2560 โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และอนุมัติงบประมาณในการดำเนินโครงการเป็นวงเงินไม่เกิน 825 ล้านบาท โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามภาระที่เกิดขึ้นจริงตามขั้นตอนต่อไปและให้ ธพว. และ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ทำความตกลงกับ สงป. ในรายละเอียดต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจได้จัดทำมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปี 2560 เพิ่มเติม ในโครงการต่าง ๆ ดังนี้
1. ธ.ก.ส. มี 2 โครงการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
กลุ่มเป้าหมาย - จำนวน 200,000 ราย / หมายเหตุ : เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. หรือลูกค้าใหม่ในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย
วิธีดำเนินการ - ให้สินเชื่อรายละไม่เกิน 50,000 บาทระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 3 ปี โดยใน 6 เดือนแรกคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 หลังจากนั้น คิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ MRRต่อปี (ปัจจุบัน MRR ของ ธ.ก.ส. อยู่ที่ร้อยละ 7 ต่อปี)
ระยะเวลดำเนินการ - จ่ายสินเชื่อใน 3 เดือนนับถัดจากเดือนที่เกิดภัยพิบัติ
วงเงินสินเชื่อ - 10,000 ล้านบาท
การชดเชย(ภาระงบประมาณ) - ไม่ขอรับชดเชยภาระดอกเบี้ยและต้นทุนเงิน
กลุ่มเป้าหมาย - จำนวน 50,000 ราย / หมายเหตุ : เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. หรือลูกค้าใหม่ในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย
วิธีดำเนินการ - ให้สินเชื่อรายละไม่เกิน 3 แสนบาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 10 ปี โดยปีที่ 1 – 4 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MRR –2 ต่อปี โดยเรียกเก็บจากเกษตรกรในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกรในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี และตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ย MRR
ระยะเวลดำเนินการ - ตั้งแต่กุมภาพันธ์ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2560
วงเงินสินเชื่อ - 10,000 ล้านบาท
การชดเชย (ภาระงบประมาณ) - ขอรับการชดเชยจากรัฐบาลวงเงินไม่เกิน 1,200 ล้านบาท โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามภาระที่เกิดขึ้นจริงตามขั้นตอนต่อไป
หมายเหตุ : กำหนดให้การดำเนินงานตามโครงการทั้ง 2 โครงการเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (PSA) และสามารถนำส่วนต่างดอกเบี้ยที่ ธ.ก.ส. รับภาระแทนเกษตรไปปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจประจำปี
2. ธนาคารออมสิน มี 2 โครงการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
กลุ่มเป้าหมาย - ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและภัยพิบัติต่าง ๆ
วิธีดำเนินการ - ให้สินเชื่อรายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 5 ปี โดยในปีที่ 1 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อเดือน และในปีที่ 2 – 5 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน และหลักประกันสามารถใช้บุคคลค้ำประกันหรือค้ำประกันโดย บสย. ได้
ระยะเวลา ดำเนินการ - ยื่นขอสินเชื่อภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560
วงเงินสินเชื่อ - วงเงิน 4,000 ล้านบาท
การชดเชย - ไม่ขอรับชดเชยภาระดอกเบี้ยและต้นทุนเงิน
กลุ่มเป้าหมาย - เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจเดิม โดยสินเชื่อระยะยาวลูกค้าต้องไม่มีหนี้ค้างชำระในวันที่ขอกู้เงิน ส่วนสินเชื่อระยะสั้นลูกค้าต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญากู้เงิน หรือเป็นผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่ประสบอุทกภัยและได้รับผลกระทบ
วิธีดำเนินการ - ให้สินเชื่อร้อยละ 10 ของวงเงินกู้สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจเดิมทุกประเภท สูงสุดรายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 5 ปี โดยในปีที่ 1 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR – 2 ต่อปี และปีต่อไปคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR ต่อปี (ปัจจุบัน MLR ของธนาคารออมสินอยู่ที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี)
ระยะเวลา ดำเนินการ - ยื่นขอสินเชื่อภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 และอนุมัติพร้อมจัดทำนิติกรรมสัญญาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2560
วงเงินสินเชื่อ - วงเงิน 2,500 ล้านบาท
การชดเชย - ไม่ขอรับชดเชยภาระดอกเบี้ยและต้นทุนเงิน
หมายเหตุ : กำหนดให้การดำเนินงานตามโครงการเป็น PSA และไม่นับรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans: NPLs) ที่เกิดจากการดำเนินการดังกล่าว เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของธนาคาร รวมทั้งให้สามารถนำค่าใช้จ่าย ในการดำเนินการบวกกลับกำไรสุทธิเพื่อการคำนวณโบนัสของพนักงานได้
3. ธพว. มี 1 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยภาคใต้ ปี 2560 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
กลุ่มเป้าหมาย - ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยภาคใต้ ปี 2560 โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยให้เป็นไปตามที่ ธพว. ประกาศกำหนดเขตพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติหรือของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปี 2560
วิธีดำเนินการ - ให้สินเชื่อรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน7 ปี โดยในปีที่ 1 – 3 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ปีที่ 4 - 7 ให้เป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ ธพว. กำหนด โดยขอรับการชดเชยจากรัฐบาลในอัตราร้อยละ 3 ต่อปีในช่วง 3 ปีแรก
ระยะเวลาดำเนินการ - 1 ปี ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ หรือจนกว่าจะเต็มวงเงิน แล้วแต่อย่างหนึ่งอย่างใดจะถึงก่อน
หลักประกัน - ตามที่ ธพว. กำหนดหรือให้ บสย. ค้ำประกัน โดยมีเงื่อนไขดังนี้
1) วงเงินค้ำประกันรวม 5,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันต่อรายสูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 7 ปี
2) ค่าธรรมเนียมค้ำประกันอัตราร้อยละ 1.75 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ ตลอดอายุการค้ำประกัน โดยในปีที่ 1 รัฐบาลเป็นผู้รับภาระชดเชยค่าธรรมเนียมแทน SMEs ในอัตราร้อยละ 1.75 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกัน
3) การจ่ายค่าประกันชดเชยของ บสย.ในแต่ละ Portfolio บสย. จะจ่ายค่าประกันชดเชยตามภาระค้ำประกัน SMEs ในระดับภาระค้ำประกันที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Guarantee: NPG) สูงสุดไม่เกินร้อยละ 18 ของภาระค้ำประกันเฉลี่ย ณ วันสิ้นอายุการค้ำประกัน
วงเงินสินเชื่อ - วงเงินสินเชื่อรวม 5,000 ล้านบาท
การชดเชย (ภาระงบประมาณ) - ขอรับการชดเชยจากรัฐบาลวงเงินไม่เกิน 825 ล้านบาท ประกอบด้วย
1. ชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้แก่ ธพว. จำนวนไม่เกิน 450 ล้านบาท
2. ชดเชยค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้แก่ บสย.จำนวนไม่เกิน 87.50 ล้านบาท
3. ชดเชยการจ่ายค่าประกันชดเชยให้แก่ บสย. ในส่วนต่างระหว่างค่าประกันชดเชยกับค่าธรรมเนียมที่ได้รับ จำนวน 287.50 ล้านบาท
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560--