คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ จำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย
1. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
2. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
3. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
4. ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
5. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ
พลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอ สภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ จำนวน 5 ฉบับ เป็นการแก้ไขหลักเกณฑ์การดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงกับข้าราชการพลเรือน ข้าราชการรัฐสภา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา โดยหน่วยงานต้นสังกัดสามารถดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการในสังกัดที่พ้นจากราชการไปแล้วก็ได้ หากความผิดอันเป็นมูลเหตุแห่งการกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงนั้นเกิดขึ้นระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหามีสภาพเป็นข้าราชการ แต่ได้กำหนดเงื่อนเวลาให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยต้องเริ่มดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นจากราชการ และกรณีที่จะสั่งลงโทษต้องดำเนินการภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นจากราชการ นอกจากนี้ ยังเป็นการกำหนดกรณีการดำเนินการทางวินัยตามที่องค์กรตรวจสอบการทุจริต ซึ่งได้แก่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิดให้สามารถดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษตามที่มีมติชี้มูลความผิดได้ แม้ผู้นั้นจะพ้นจากราชการไปแล้ว โดยไม่นำเงื่อนเวลาในการสอบสวนและเงื่อนไขการสั่งลงโทษดังกล่าวมาใช้บังคับ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ข้าราชการประเภทต่าง ๆ และเพื่อให้การชี้มูลความผิดวินัยขององค์กรตรวจสอบการทุจริตสามารถลงโทษทางวินัยแก่ข้าราชการตามที่ชี้มูลได้
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560--