1. รับทราบผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในบริการภาคขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุของกระทรวงคมนาคม ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
2. ให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ของยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในภาคขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2560-2564) และแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนดังกล่าวเป็นรูปธรรมและสอดคล้องตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้
3. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับ คค. ดำเนินการขับเคลื่อนแผนงาน/กิจกรรมภาคใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในภาคขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุให้เป็นรูปธรรมต่อไป และให้ คค. ประสานกับกลุ่มองค์กรหรือเครือข่าย เพื่อขอความร่วมมือในการดำเนินการ รวมทั้งให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รับไปประสานและขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป
คค. รายงานว่า
1. ประเทศไทยได้ก้าวสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุหรือประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าในปี พ.ศ. 2567-2572 จำนวนผู้สูงอายุของประเทศไทยจะคิดเป็นร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด อย่างไรก็ดี ประสิทธิภาพมาตรฐานด้านการบริการภาคขนส่งและการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยยังมีปัญหาและไม่สัมฤทธิ์ผล หากเทียบกับประเทศที่ประสบปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุหรือมีสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุต่อประชากรของประเทศที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้จากการดำเนินงานที่ผ่านมา คค. พบว่า อุปสรรคต่อการพัฒนาระบบบริการภาคขนส่งและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุมีหลายปัจจัย เช่น ปัญหาด้านกฎหมายที่จำเป็นต้องมีการปรับปรุง การขาดการบริหารจัดการ การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะและองค์ความรู้การขาดแคลนระบบนวัตกรรม/ เทคโนโลยีที่เหมาะสม และการขาดงบประมาณในการดำเนินงาน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกำหนดเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในภาคขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุที่ครอบคลุมการแก้ไขอุปสรรคดังกล่าวเพื่อใช้เป็นกรอบการดำเนินงานของทุกภาคส่วน เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างสอดคล้อง ครอบคลุม และบูรณาการ
2. คค. ได้ขับเคลื่อนโครงการศึกษาการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการในภาคขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุให้เป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับมาตรฐานบริการภาคการขนส่งให้สามารถรองรับสังคมผู้สูงอายุและยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งประกอบด้วย 3 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
2.1 ยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในภาคขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ประกอบด้วย
1) ด้านนโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและการให้บริการคนพิการและผู้สูงอายุ
2) ด้านการปรับปรุงโครงสร้างทางภายภาพสิ่งอำนวยความสะดวกและยานพาหนะสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ
3) ด้านการฝึกอบรมบุคลากรเกี่ยวกับการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและการให้บริการคนพิการและผู้สูงอายุ
4) ด้านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้อำนวยความสะดวกแก่คนพิการและผู้สูงอายุ
2.2 ต้นแบบการปรับปรุงและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุในสถานที่ให้บริการภาคขนส่ง 5 แห่ง ได้แก่ ป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ถนนบรมราชชนนี) ท่าเรือพระนั่งเกล้า สถานีรถไฟความเร็วสูงนครปฐม และท่าอากาศยานดอนเมือง
3. คู่มือการให้ความช่วยเหลือคนพิการแต่ละประเภทและผู้สูงอายุและคู่มือแปลภาษาหรือป้ายสัญลักษณ์ภาษาสำหรับหน่วยงานที่ให้บริการภาคขนส่งตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ยานพาหนะและบริการขนส่งเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ. 2556 ได้แก่
3.1 คู่มือการให้ความช่วยเหลือคนพิการแต่ละประเภทและผู้สูงอายุ ประกอบด้วย ความรู้พื้นฐาน หลักปฏิบัติ และวิธีใช้อุปกรณ์พื้นฐานในการให้บริการและให้ความช่วยเหลือคนพิการและผู้สูงอายุ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือคนพิการในการเดินทางโดยอากาศยานตามมาตรฐาน International Civil Aviation Organization (ICAO) ตลอดจนข้อมูลอันเป็นประโยชน์อื่น ๆ เช่น สรุปกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ คำแนะนำการใช้เครื่อง TTRS สำหรับการสื่อสารกับคนพิการทางการได้ยิน สิทธิพิเศษด้านค่าโดยสารสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุที่ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ
3.2 คู่มือแปลภาษาและป้ายสัญลักษณ์ภาษาสำหรับหน่วยงานที่ให้บริการภาคขนส่งประกอบด้วย การแปลภาษาสำหรับคนพิการทางการได้ยินและการเห็นความรู้เกี่ยวกับป้ายสัญลักษณ์ภาษาชนิดต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องมีในอาคารสถานที่ที่ให้บริการภาคขนส่งและแนวทางการออกแบบและจัดวางป้ายสัญลักษณ์ภาษาทั้งนี้ สนข. ได้เผยแพร่คู่มือข้างต้นให้แก่หน่วยงานในสังกัด คค. และ พม. พร้อมทั้งเผยแพร่
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560--