การดำเนินการตามผลการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ครั้งที่ 2/2560

ข่าวการเมือง Tuesday February 28, 2017 18:19 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การดำเนินการตามผลการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ครั้งที่ 2/2560 (แนวทางการปรับระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั้งในส่วนของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจและรายงานความคืบหน้าในการศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับอายุความ)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการปรับระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั้งในส่วนของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

สาระสำคัญของแนวทางการปรับระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั้งในส่วนของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ สรุปได้ดังนี้

1. ปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) ไม่ชัดเจน หรือกำหนดคุณลักษณะเฉพาะเป็นการล็อคสเปค และกำหนดราคากลางสูงเกินความเป็นจริง มีแนวทางดำเนินการ ดังนี้

1.1 การจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact : IP) ให้คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการดำเนินการโครงการร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยคัดเลือกโครงการขนาดใหญ่ของหน่วยงานภาครัฐ และให้ผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมสังเกตการณ์และตรวจสอบโครงการตลอดระยะเวลาตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำราคากลาง ร่างขอบเขตของงาน (TOR) จนกระทั่งเสร็จสิ้นโครงการ รวมทั้งให้มีการกำหนดแนวปฏิบัติให้ผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมใช้ประกอบการเข้าสังเกตการณ์ และเพิ่มช่องทางการจัดหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาสังเกตการณ์เพื่อให้ข้อคิดเห็นในการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมของหน่วยงานภาครัฐ

1.2 ให้คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อสอบทานราคากลางงานก่อสร้าง โดยมีองค์ประกอบจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรวิชาชีพ นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการก่อสร้าง

1.3 ให้กรมบัญชีกลางนำข้อมูลการจัดซื้อครุภัณฑ์ในระบบ e-GP มากำหนดเป็นราคากลางครุภัณฑ์และปรับปรุงข้อมูลราคากลางให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

2. ปัญหาการสมยอมราคาในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (การฮั้วประมูล) มีแนวทางดำเนินการ ดังนี้

2.1 เพิ่มกรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับ หลักเกณฑ์ และตรวจสอบราคากลางงานก่อสร้าง ซึ่งแต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ให้มีอำนาจหน้าที่ “กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการงานก่อสร้างที่มีสิทธิเป็นผู้ยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานของรัฐ เพื่อดำเนินการไปก่อนร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. .... มีผลบังคับใช้”

2.2 ให้กรมบัญชีกลางกำหนดแนวทางการประเมินผลผู้ประกอบการ โดยพิจารณาจากความสามารถของคู่สัญญาในการปฏิบั้ติงานตามสัญญา เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ายื่นข้อเสนอหรือเข้าทำสัญญากับหน่วยงานภาครัฐ

2.3 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อเปิดโอกาสมีการแข่งขันมากขึ้น ดังนี้

(1) งานก่อสร้างที่มีวงเงินตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป และเป็นการดำเนินงานที่รายละเอียดซับซ้อน มีเทคนิคเฉพาะ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ต้องใช้บุคลากรในสาขาวิชาชีพการก่อสร้างชั้นสูงหรือช่างผู้มีฝีมือโดยเฉพาะ หรือมีความชำนาญเป็นพิเศษ เช่น ทางยกระดับ อุโมงค์ใต้ดิน ท่าเรือขนส่งท่าอากาศยาน เป็นต้น ให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการประกาศประกวดราคานานาชาติ (International Bidding)

(2) งานอื่นที่ไม่ใช่งานก่อสร้างที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และเป็นการซื้อหรือการจ้างมีรายละเอียดของสินค้าบริการหรืองานที่มีความซับซ้อน มีเทคนิคเฉพาะ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้หน่วยงานภาครัฐกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคาโดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการต่างประเทศสามารถเข้าร่วมการเสนอราคาได้

3. ปัญหาการจัดซื้อผ่านคนกลาง (Agent) มีแนวทางดำเนินการ ดังนี้การจัดซื้อพัสดุที่มีรายละเอียดของสินค้ามีความซับซ้อนมีเทคนิคเฉพาะ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี ขั้นสูง มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ และมีผู้ผลิตสินค้าตามรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะตามที่หน่วยงานกำหนดน้อยราย ให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการจัดซื้อกับผู้ผลิตโดยตรงโดยไม่ให้ซื้อผ่านผู้แทนจำหน่าย เว้นแต่ มีเหตุผลความจำเป็นไม่สามารถดำเนินการได้ ก็ให้จัดซื้อผ่านผู้แทนจำหน่ายได้ ทั้งนี้ จะต้องระบุเหตุผลความจำเป็นไว้ในรายงาน ขอซื้อขอจ้างด้วย

ทั้งนี้ การดำเนินการตามข้อ 2.3 และข้อ 3 ข้างต้น ไม่รวมถึงกรณีที่การจัดจ้างที่ได้มีการประกาศในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลางหรือของหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้ายื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐ ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติในเรื่องดังกล่าว

4. แนวทางการกำกับดูแลบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจให้มีการบริหารจัดการที่มีความโปร่งใสคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ การจัดตั้ง/ร่วมทุนและกำกับดูแลบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 และวันที่ 30 สิงหาคม 2559 แล้วซึ่ง สคร. ได้เวียนแจ้งหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งถือปฏิบัติด้วยแล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

4.1 หลักเกณฑ์ในการจัดตั้ง/ร่วมทุนในบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ

4.2 ขั้นตอนและข้อมูลในการขออนุมัติจัดตั้ง/ร่วมลงทุนในบริษัทในเครือ

4.3 หลักเกณฑ์การกำกับดูแลบริษัทในเครือซึ่งกำหนดให้รัฐวิสาหกิจแม่ต้องมีการกำกับดูแลบริษัทในเครือให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีทัดเทียมกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และที่รัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติ โดยบริษัทในเครือต้องถือปฏิบัติอย่างน้อย ดังนี้

(1) จัดให้มีระบบการบริหารจัดการที่ดีและปฏิบัติตามแนวทางการเปิดเผยข้อมูลผ่านรายงานประจำปี ที่โปร่งใสและตรวจสอบได้

(2) นโยบายป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ทั้งโครงสร้างการถือหุ้น/การจัดการ

(3) โครงสร้างกรรมการที่มีการถ่วงดุล มีกรรมการอิสระ การจัดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง

(4) งบการเงินของบริษัทในเครือต้องผ่านการตรวจสอบ/สอบทานโดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตอย่างไรก็ดี นอกจากการกำหนดหลักเกณฑ์ข้างต้น สคร. ได้กำหนดให้บริษัทในเครือจัดส่งข้อมูลรายงานประจำปี ภายใน 60 วันจากสิ้นปีบัญชี และสำหรับกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการและผู้บริหารระหว่างปี ให้รายงานทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงภายใน 30 วัน และข้อมูลอื่น ๆ ที่ สคร. กำหนดเพิ่มเติมต่อไป

5. แนวทางการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างให้กรมบัญชีกลางพัฒนาระบบ e-GP โดยให้มีการเปิดเผยรายชื่อ และระบุประเภทของผู้ชนะการเสนอราคาว่าเป็นผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่าย รวมทั้งจัดทำรายงานสรุปผลการจัดซื้อจัดจ้างของแต่ละหน่วยงานประจำปี โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ ข้อมูลของผู้ชนะการเสนอราคา วงเงินงบประมาณ ประเภทโครงการ และร้อยละของวงเงินที่จัดซื้อจัดจ้างต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี ประกาศเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์

6. การกำหนดแนวทางเพื่อกำกับไม่ให้ข้าราชการและพนักงานของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ รับทรัพย์สิน สิ่งของหรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกินกว่า 3,000 บาท กรณีนี้เห็นควรให้หน่วยงานภาครัฐ กำหนดแนวทางปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ให้สอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2544 โดยเคร่งครัด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ