คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการต่อ
(1) ร่างปฏิญญาสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย : ส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อมหาสมุทรอินเดียแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง [The Indian Ocean Rim association (IORA) Concord: Promotion Regional Cooperation for a Peaceful, Stable and Prosperous Indian Ocean]
(2) ร่างแผนปฏิบัติการ IORA ค.ศ. 2017-2021 (IORA Action Plan 2017-2021) และ
(3) ร่างปฏิญญาว่าด้วยการต่อต้านแนวคิดรุนแรงสุดโต่งอันจะนำไปสู่การก่อการร้าย (IORA Declaration on Countering Violent Extremism Leading to Terrorism) และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมสภารัฐมนตรี IORA ร่วมรับรองแผนปฏิบัติการ IORA ค.ศ. 2017-2021 และปฏิญญาว่าด้วยการต่อต้านแนวคิดรุนแรงสุดโต่งอันจะนำไปสู่การก่อการร้าย
3. อนุมัติให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมผู้นำในโอกาสครบรอบ 20 ปี สมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Leaders’ Summit in Commemoration of The 20th Anniversary of IORA) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงจาการ์ตา ร่วมลงนามรับรองปฏิญญา IORA และรับทราบผลการรับรองแผนปฏิบัติการ IORA ค.ศ. 2017-2021 และปฏิญญาว่าด้วยการต่อต้านแนวคิดรุนแรงสุดโต่งอันจะนำไปสู่การก่อการร้ายของที่ประชุมสภารัฐมนตรี IORA
1. ปฏิญญาสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (IORA Concord) : ส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อมหาสมุทรอินเดียแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง และแผนปฏิบัติการ IORA ค.ศ. 2017-2021 มีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักการที่ IORA ยึดมั่นและให้ความสำคัญ เช่น การเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ การรักษาสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญมั่งคั่งในภูมิภาค และข้อผูกพันต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ รวมทั้งการแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกที่จะขยายความร่วมมือโดยเฉพาะใน 6 สาขาหลัก (ได้แก่ ความปลอดภัยและความมั่นคงทางทะเล การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การบริหารจัดการการประมง การบริหารจัดการความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ การร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการแลกเปลี่ยนด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม) รวมถึงประเด็นคาบเกี่ยวที่มีความสำคัญลำดับต้นและการขยายความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาค โดยมีร่างแผนปฏิบัติการ IORA ค.ศ. 2017-2021 ซึ่งรับรองโดยที่ประชุมสภารัฐมนตรี IORA เป็นเอกสารรองรับและสนับสนุนการดำเนินการ
2. ปฏิญญา IORA ความร่วมมือที่สำคัญส่งเสริมความปลอดภัยและความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาค ขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ส่งเสริมการบริหารจัดการและการพัฒนาการประมงที่ยั่งยืนและรับผิดชอบ ส่งเสริมการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ ความร่วมมือด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ประเด็นคาบเกี่ยวและเป้าประสงค์ที่สำคัญ และประเด็นอื่น ๆ
3. ปฏิญญาว่าด้วยการต่อต้านแนวคิดรุนแรงสุดโต่งอันจะนำไปสู่การก่อการร้าย ร่างปฏิญญาฯ ให้ความสำคัญกับประเด็นท้าทายหลักในภูมิภาค โดยมีสาระสำคัญเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกในการต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดรุนแรงสุดโต่งทุกรูปแบบ ผ่านความพยายามที่จะขยายความร่วมมือระหว่างประเทศ การประสานงาน การหารือและแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญ แนวปฏิบัติที่ดี และบทเรียนที่ได้รับ การส่งเสริมบทบาทของการศึกษาและสังคม การสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถาบันระดับชาติและระดับภูมิภาคที่เชี่ยวชาญในเรื่องการต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดรุนแรงสุดโต่ง รวมทั้ง การสร้างความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมและการเคารพต่อทุกศาสนา ค่านิยม ความเชื่อ และวัฒนธรรม เพื่อรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเป็นไปตามข้อมติและปฏิญญาสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560--