คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
1. แก้ไขเพิ่มเติมคำนิยามคำว่า การบริหารสินทรัพย์ ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน และผู้มีอำนาจในการจัดการ เพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
2. กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทบริหารสินทรัพย์
3. กำหนดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่รับซื้อและรับโอนสินทรัพย์จากผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินสามารถดำเนินงานที่มีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน
4. กำหนดให้การโอนสินทรัพย์ที่ได้มาจากการยึดหรืออายัดของหน่วยงานของรัฐและการโอนสินทรัพย์ที่คาดว่าจะไม่ได้รับชำระหนี้คืนเต็มจำนวนของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ไม่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมและภาษีอากร และกำหนดให้การโอนสินทรัพย์ที่คาดว่าจะไม่ได้รับชำระหนี้คืนเต็มจำนวน ของผู้ประกอบการธุรกิจทางการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์นั้น บริษัทบริหารสินทรัพย์ไม่อาจสวมสิทธิเป็นคู่ความในคดีที่อยู่ในชั้นศาล และไม่อาจเรียกเก็บดอกเบี้ยจากลูกหนี้ตามสัญญาเดิมได้ รวมทั้งจะต้องบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
5. เพิ่มบทกำหนดโทษกรณีที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม
6. เพิ่มบทเฉพาะกาลเพื่อให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่จดทะเบียนก่อนที่ร่างพระราชบัญญัติบริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ซึ่งมีกรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม เพื่อให้มีระยะเวลาในการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 มีนาคม 2560--