คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
ปรับปรุงพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 และพระราชกำหนดการนำ คนต่างด้าวมาทำงานกับนางจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559 โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1. กำหนดให้มี “คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว” มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและกำกับบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยให้คณะกรรมการพิจารณาการทำงานของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวตามพระราชกำหนดนี้ไปจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามพระราชกำหนดนี้
2. กำหนดให้การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยมี 2 กรณี ได้แก่
2.1 กรณีที่ผู้รับอนุญาตเป็นผู้นำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ
2.2 กรณีที่นายจ้างเป็นผู้นำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีและต้องวางหลักประกันไว้กับอธิบดีเพื่อประกันความเสียหายที่อาจเกิดจากการที่นายจ้างได้นำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ
2.3 กำหนดให้มี “กองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนชื่อและวัตถุประสงค์ของกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการบริหารจัดการเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว โดยให้รับโอนบรรดากิจการ เงิน สิทธิ และหนี้สินจากกองทุนเดิม
2.4 กำหนดการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ขึ้นใหม่ ให้นายจ้างผู้รับอนุญาตและลูกจ้างผู้รับใบอนุญาตทำงานซึ่งมีการจ้างงานตามพระราชกำหนดนี้ อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
2.5 แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจนายทะเบียนในการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตและเพิ่มบทบัญญัติเรื่อง การประกาศรายชื่อนายจ้างที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติในเรื่องการให้คนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือ ไม่จ่ายเงินทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงาน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 มีนาคม 2560--