โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2)

ข่าวการเมือง Tuesday March 14, 2017 17:45 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการดำเนินโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

วท. รายงานว่า

1. ในปี 2547 วท. (สทอภ.) ได้พัฒนาโครงการระบบดาวเทียมสำรวจทรัพยากรของประเทศไทย หรือ ธีออส (Thailand Earth Observation System: THEOS) (ประกอบด้วยดาวเทียมไทยโชตและสถานีควบคุมภาคพื้นดิน) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรเชิงปฏิบัติการดวงแรกของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมไทยโชตในหลายด้าน เช่น การเกษตร การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ภารกิจด้านความมั่นคง การติดตามสถานการณ์ การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ดาวเทียมไทยโชตได้ขึ้นสู่วงโคจรครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 และมีอายุการใช้งานตามการออกแบบ 5 ปี (ครบกำหนดไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2556) อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์สถานภาพของระบบต่าง ๆ ของดาวเทียมคาดว่าจะสามารถใช้งานได้ถึงปี 2560 ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สทอภ. ได้ใช้งานดาวเทียมไทยโชตร่วมกับการรับสัญญาณหรือจัดหาภาพจากกลุ่มดาวเทียมนานาชาติกว่า 30 ดวง เพื่อตอบสนองความต้องการ ที่หลากหลายข้างต้น

2. จากเหตุผลข้างต้น สทอภ. จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาดาวเทียมดวงใหม่ทดแทนดาวเทียมไทยโชตที่ครบกำหนดอายุการใช้งานไปเมื่อปี 2556 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อการบริการข้อมูลและภูมิสารสนเทศจากดาวเทียมในภารกิจสำคัญ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ ซึ่งหากล่าช้า อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความต่อเนื่องของการได้มาซึ่งข้อมูลดาวเทียมของประเทศไทยที่ผู้แทนจำหน่ายจากต่างประเทศไม่สามารถให้หลักประกันได้ว่าจะจัดหาให้ได้ตามความต้องการ โดยเฉพาะในสถานการณ์เร่งด่วน ฉุกเฉิน และในพื้นที่ที่เป็นผลประโยชน์ของชาติได้ เช่น การติดตามและประเมินภัยพิบัติ และการถ่ายภาพพื้นที่ตามแนวชายแดน พื้นที่ประมงทะเล รวมทั้งการพัฒนาระบบดาวเทียมต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 3 - 4 ปี ดังนั้น สทอภ. จึงได้เริ่มดำเนินกระบวนการขอแบบแนวคิด (Request for Conceptual Model: RCM) เพื่อรวบรวมข้อมูลทางเทคโนโลยีการสำรวจโลกด้วยดาวเทียมสำหรับใช้ประกอบการพิจารณาแนวคิดของระบบดาวเทียมสำรวจโลก ระยะที่ 2 ในการนี้ สทอภ. จึงได้ส่งเอกสาร RCM ให้แก่ประเทศที่มีศักยภาพ ด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยมีประเทศที่ตอบรับและส่งเอกสารกรอบแนวคิดกลับมาทั้งสิ้น 10 ประเทศ

3. จากการศึกษาและวิเคราะห์เอกสารของทั้ง 10 ประเทศ พบว่ามีประเทศที่มีศักยภาพด้านเทคนิคสูงตามเกณฑ์การประเมินของคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติจำนวน 8 ประเทศ [มติคณะรัฐมนตรี (19 พฤษภาคม 2558)] ซึ่ง สทอภ. ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลรายละเอียดทางเทคนิคของประเทศที่มีศักยภาพต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบสำหรับการจัดทำรายละเอียดกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) และรายละเอียดต่าง ๆ ผ่านคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสนสารเทศแต่งตั้งขึ้นโดยโครงการ (THEOS-2) มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1) เพื่อจัดหาดาวเทียมสำรวจดวงใหม่ของประเทศเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติทั้งในประเทศ นอกประเทศ และในสถานการณ์วิกฤต

2) เพื่อเพิ่มศักยภาพและต่อยอดงานวิจัยพัฒนา และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข้งทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ ผ่านศูนย์วิจัยและพัฒนาดาวเทียม รวมถึงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้านเศรษฐกิจอวกาศ (Space Economy)

3) เพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากรไทยผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) และการอบรมเพื่อต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ในการออกแบบและสร้างดาวเทียม การนำภาพดาวเทียมไปใช้ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นและโซลูชั่น ด้านภูมิสารสนเทศ และ

4) เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านการบริหารจัดการเชิงพื้นที่แบบองค์รวมใน 6 ด้าน ตามความต้องการของผู้ใช้หลัก (วท. กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานราชการอื่น ๆ) ดังนี้

1. ด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร

2. ด้านการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม

3. ด้านการจัดการภัยพิบัติ

4. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ

5. ด้านความปลอดภัยทางสังคมและความมั่นคงของชาติ และ

6. ด้านการจัดการเมือง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 มีนาคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ