แนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ข่าวการเมือง Tuesday April 4, 2017 18:33 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ ดังนี้

1. แนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ สลค. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการฤษฎีกา (สคก.) จัดทำขึ้น เพื่อให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อไป

2. หลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ (Checklist) ที่ สลค. ร่วมกับ สคก. ปรับปรุงขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตามข้อ 1 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 [เรื่อง นโยบายการปฏิรูปกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับฝ่ายบริหาร] โดยให้เป็นหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติท้ายระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 และให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. สลค. และ สคก. ได้ร่วมกันพิจารณาเกี่ยวกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเตรียมประกาศใช้บังคับ เห็นว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในส่วนของการตรากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติได้บัญญัติเพิ่มเติมหรือแตกต่างจากที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาหลายประการ ซึ่งหน่วยงานของรัฐต้องเตรียมความพร้อมในการดำเนินการเพื่อให้การตรากฎหมายภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับแล้วเป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติเกี่ยวกับการตรากฎหมายไว้ สรุปเป็นมาตราในการตรากฎหมายไว้ 4 มาตรการ คือ

1) มาตรการทั่วไป

2) มาตรการก่อนการตรากฎหมาย

3) มาตรการภายหลังการตรากฎหมาย และ

4) มาตรการควบคุมเนื้อหาของกฎหมาย

2. เพื่อให้การตรากฎหมายของหน่วยงานของรัฐเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยข้างต้น สลค. ร่วมกับ สคก. จัดทำแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางเกี่ยวกับการร่างกฎหมาย การตรวจพิจารณาร่างกฎหมาย และแนวทางการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมาย รวมทั้งการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นกรอบหรือแนวทางการดำเนินการในการจัดทำร่างกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 หลักเกณฑ์การร่างกฎหมายและการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายของหน่วยงานรัฐ

ส่วนที่ 2 แนวทางการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมาย และการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วย หลักเกณฑ์และแนวทางการพิจารณาในแต่ละขั้นตอน ดังนี้

1) การจัดทำร่างกฎหมายของหน่วยงานรัฐ ซึ่งรวมถึงขั้นตอนการดำเนินการของ สลค. เมื่อร่างกฎหมายของหน่วยของรัฐเสนอมายังคณะรัฐมนตรีและขั้นตอนในชั้นการตรวจพิจารณาของ สคก.

2) การดำเนินการกรณีร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่าง สลค. ดำเนินการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี

3) การดำเนินการกรณีร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของ สคก. และ

4) การดำเนินการกรณีร่างกฎหมายที่ผ่านการตรวจพิจารณาของ สคก. และอยู่ระหว่างการดำเนินการของ สลค.

3. นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ (Checklist) เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตามข้อ 2 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 [เรื่อง นโยบายการปฏิรูปกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับฝ่ายบริหาร] โดยให้เป็นหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความจำเป็นในการตรวจตราพระราชบัญญัติท้ายระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 และให้หน่วยงานรัฐถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 เมษายน 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ