ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เมืองเก่าราชบุรี เมืองเก่าสุรินทร์ เมืองเก่าภูเก็ต และเมืองเก่าระนอง

ข่าวการเมือง Tuesday April 11, 2017 18:00 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

1. ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า เมืองเก่าราชบุรี เมืองเก่าสุรินทร์ เมืองเก่าภูเก็ต และเมืองเก่าระนอง เพื่อประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า พ.ศ. 2546

2. กรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาและจัดทำรายละเอียดเพื่อดำเนินการต่อไป

สาระสำคัญของขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า 4 เมือง เพื่อประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546 ได้แก่

1. ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าราชบุรี ครอบคลุมอาณาบริเวณพื้นที่ภายในกำแพงเมืองและคูเมืองโบราณด้านทิศใต้ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองฝั่งตะวันตกในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี และกำแพงเมืองบริเวณค่ายภาณุรังสีริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองฝั่งตะวันออก รวมถึงชุมชนโดยรอบย่านการค้าเก่าริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองฝั่งตะวันตกและบริเวณ ตลาดโรงช้าง

2. ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าสุรินทร์ ครอบคลุมอาณาบริเวณพื้นที่ภายในกำแพงเมืองและคูเมืองสุรินทร์ชั้นนอกของกรมธนารักษ์ รวมถึงชุมชนและย่านการค้าบริเวณหลังสถานีรถไฟสุรินทร์

3. ขอบเขตเพื้นที่เมืองเก่าภูเก็ต ครอบคลุมอาณาบริเวณพื้นที่ย่านการค้าดั้งเดิมที่มีสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส อาคารบ้านเรือนคหบดีเก่าที่กระจุกตัวบริเวณถนนกลาง ถนนดีบุก ถนนระนอง ถนนรัษฎาถนนภูเก็ต รวมถึงอาคารราชการ ศาลเจ้าย่านชุมชนบางเหนียว และต่อเนื่องถึงคลองบางใหญ่ด้านใต้ ถึงทะเลอันดามัน

4. ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าระนอง ครอบคลุมอาณาบริเวณพื้นที่ฝั่งเหนือของคลองหาดส้มแป้น ซึ่งมีองค์ประกอบของเมืองที่สำคัญตั้งอยู่ ประกอบด้วย ย่านศูนย์กลางราชการบริเวณเนินประวัติศาสตร์เขตนิเวศน์ พระราชวังรัตนรังสรรค์ ศาลหลักเมือง ศาลเจ้า กลุ่มอาคารย่านการค้าเก่า ถนนเรืองราษฎร์ ถนนท่าเมือง และ ย่านที่อยู่อาศัยดั้งเดิมริมถนนดับคดี

สำหรับกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ประกอบด้วย แนวทางทั่วไปและแนวทางสำหรับเขตพื้นที่ ดังนี้

1. แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาทั่วไป พิจารณาจากแนวทางทั่วไป 7 ประการ ซึ่งสามารถเลือกนำไปใช้ปฏิบัติตามความเหมาะสมสำหรับพื้นที่เฉพาะแต่ละบริเวณที่มีความแตกต่างกันออกไป ดังนี้

1) การมีส่วนร่วมและการประชาสัมพันธ์

2) การสร้างจิตสำนึก การอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน

3) การส่งเสริมกิจกรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น

4) การส่งเสริมคุณภาพชีวิต

5) การป้องกันภัยคุกคามจากมนุษย์และธรรมชาติ

6) การประหยัดพลังงานด้านการสัญจรและสภาพแวดล้อม

7) การดูแลและบำรุงรักษาอาคารและสาธารณูปการ

2. แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาสำหรับเขตพื้นที่ (Zoning) พิจารณาจากเขตพื้นที่ มี 2 ประเภท ซึ่งสามารถเลือกนำไปใช้ปฏิบัติตามความเหมาะสมสำหรับแต่ละพื้นที่ ประกอบด้วย

1) ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน

2) ด้านอาคารและสภาพแวดล้อม

3) ด้านระบบการจราจรและคมนาคมขนส่ง

4) ด้านการพัฒนาภูมิทัศน์

5) ด้านการบริหารและการจัดการ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 เมษายน 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ