คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเกณฑ์การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ ประเภทธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา ภูเขา และน้ำตก ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เสนอ
สผ. ได้จัดทำเกณฑ์การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายภายใต้แผนแม่บทฯ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ซึ่งได้ดำเนินการจัดทำแล้วเสร็จ 3 ประเภท ได้แก่ (1) ธรณีสัณฐานและภูมิลักษณวรรณา (2) ภูเขา และ (3) น้ำตก โดยเกณฑ์การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ถือว่าเป็นเครื่องมือให้กับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่นำไปใช้ประโยชน์ในการประเมินสถานภาพแหล่งธรรมชาติของตนเกี่ยวกับคุณภาพสิ่งแวดล้อมและองค์ประกอบต่าง ๆ รวมทั้งนำไปใช้ในการติดตามและตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ ซึ่งจะช่วยให้ทราบสาเหตุของผลกระทบทั้งจากภัยธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ ทั้งนี้การจัดทำเกณฑ์การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ของแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ทั้ง 3 แห่ง ได้ผ่านการประชุม รับรู้ และตัดสินใจร่วมกันของประชาชน ชุมชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผ่านการแลกเปลี่ยนความเห็นและให้ข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำเกณฑ์การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ
1. ปัจจัยชี้วัดแต่ละด้าน รวม 4 ด้าน ได้แก่
(1) ด้านองค์ประกอบของระบบนิเวศ/สิ่งแวดล้อม
(2) ด้านองค์ประกอบภูมิสถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรม
(3) ด้านผลผลิตจากการบริการสิ่งแวดล้อมของแหล่ง และ
(4) ด้านการบริหารจัดการ
2. ระดับเกณฑ์การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ กำหนดเป็น 3 ระดับ ได้แก่
(1) ระดับสูงหรือดี คือ ไมมีผลกระทบหรือมีระดับผลกระทบน้อย (มีค่าคะแนนอยู่ในช่วง 1.00 – 1.66)
(2) ระดับปานกลาง คือ มีระดับผลกระทบปานกลาง (มีค่าคะแนนอยู่ในช่วง 1.67 -2.33)
(3) ระดับต่ำ คือ มีระดับผลกระทบมากหรือรุนแรง ซึ่งหมายถึงมีผลกระทบเกินค่าเกณฑ์ ที่ได้กำหนดไว้ (มีค่าคะแนนอยู่ในช่วง 2.34 -3.00)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 เมษายน 2560--