กรอบแนวทางการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สำหรับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ

ข่าวการเมือง Tuesday May 9, 2017 15:44 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง กรอบแนวทางการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สำหรับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติ ดังนี้

1. เห็นชอบหลักการของกรอบแนวทางการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมสำหรับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งคณะกรรมการสานพลังประชารัฐของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

2. ให้ กค. ร่วมกับ วท. กำหนดหลักเกณฑ์ในการรับรองค่าใช้จ่าย เช่น รายการค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายเพื่อการวิจัย ที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อให้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมใช้เป็นหลักเกณฑ์กลางในการพิจารณาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แก่ผู้ว่าจ้างทำวิจัยและกลุ่มผู้ว่าจ้างทำการวิจัยให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

3. มอบหมายให้ กค. ร่วมกับ วท. รายงานความคืบหน้าและผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากการดำเนินการตามกรอบแนวทางดังกล่าวเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศรับทราบเพื่อกำกับติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการต่อไป

4. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่ กค. เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของกรอบแนวทางการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สำหรับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ฯ ประกอบด้วย

1) กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และเทคโนโลยี

2) กลุ่มอุตสาหกรรมสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์

3) กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม

4) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่าง ๆปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว

5) กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูงให้เป็นการพัฒนางานวิจัยที่ตรงตามความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Demand driven research)สามารถใช้ยกระดับ ขีดความสามารถของกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อเร่งสร้างขีดความสามารถและคุณภาพงานวิจัยของประเทศอย่างเร่งด่วน

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และกลุ่มบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการทำวิจัยและพัฒนาร่วมกันตามโครงการสานพลังประชารัฐ และได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการสานพลังประชารัฐของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว สามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้สูงสุด 3 เท่า เป็นระยะเวลา 3 รอบบัญชี สำหรับรอบบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2560 – 31 ธันวาคม 2562 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบัคคลแต่ละรายดังกล่าวที่จ่ายไปเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต้องไม่เกินกว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับในปัจจุบันตามพระราชกฤษฎีกาออกตามในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 598) พ.ศ. 2559

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 พฤษภาคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ