การเข้าร่วมโครงการ Base Erosion and Profit Shifting Project (BEPS Project) ของ OECD

ข่าวการเมือง Tuesday May 16, 2017 16:49 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การเข้าร่วมโครงการ Base Erosion and Profit Shifting Project (BEPS Project) ของ OECD ในฐานะ Associate Country ภายใต้ Inclusive Framework

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการเข้าร่วมโครงการ Base Erosion and Profit Shifting Project (BEPS Project) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา [Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD)] ในฐานะประเทศสมาชิก (Associate Country) ภายใต้กรอบ ความร่วมมือ (Inclusive Framework) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. รายงานว่า

1. เนื่องจากปัจจุบันมีรายงานว่า ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนาต้องสูญเสียรายได้ภาษีจากการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศปีละหลายล้านล้านบาท รัฐบาลของกลุ่มประเทศ G20 จึงได้ริเริ่ม BEPS Project ในปี 2556 เพื่อจัดทำปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (BEPS) รวม 15 ปฏิบัติการ รวมทั้งได้จัดทำและเผยแพร่รายงานข้อเสนอแนะของปฏิบัติการเพื่อป้องกัน BEPS ในปี 2558 ครอบคลุมตั้งแต่มาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี มาตรการเพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสและความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงการจัดทำความตกลงแบบพหุภาคีเพื่อให้สามารถแก้ไขอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (อนุสัญญาภาษีซ้อน) โดยไม่ต้องดำเนินการแก้ไขอนุสัญญาภาษีซ้อนเป็นรายฉบับ นอกจากนี้ OECD ยังได้จัดตั้งกรอบความร่วมมือเพื่อให้เป็นกลไกให้ประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกภายใต้กรอบความร่วมมือ มีส่วนร่วมกำหนดทิศทางและวิธีการในการนำข้อเสนอแนะภายใต้ BEPS Project มาประยุกต์ใช้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม

2. ปัจจุบันกรอบความร่วมมือ มีสมาชิก 94 เขตเศรษฐกิจและมีเขตเศรษฐกิจในอาเซียนที่เข้าร่วม ได้แก่ สิงคโปร์ บรูไนดารุสซาลาม และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ยังมีเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ในเอเชียที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญกับประเทศไทยที่เข้าร่วม ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเก๊า และฮ่องกงในส่วนของไทยนั้น OECD ได้มีหนังสือเชิญประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ BEPS Project ของ OECD ในฐานะประเทศสมาชิกเมื่อเดือนมีนาคม 2559 โดยโครงการฯ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกในการให้ประเทศสมาชิกภายใต้กรอบความร่วมมือเข้าร่วมในการกำหนดทิศทางและวิธีการในการนำข้อเสนอแนะภายใต้ BEPS Project มาประยุกต์ใช้ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1) ช่วยยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระดับนานาชาติ จากเดิมไทยจะเป็นผู้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่ OECD กำหนด เป็นประเทศผู้เข้าร่วมกับ OECD ที่มีสิทธิเทียบเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่ม G20 และ OECD ในการกำหนดมาตรฐานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการป้องกันการเกิด BEPS อย่างเสมอภาค

2) เป็นการส่งเสริมให้ไทยมีมาตรการเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติโดยการแลกเปลี่ยนข้อมูล Country-by- Country Report ซึ่งเป็นข้อมูลของบริษัทข้ามชาติเกี่ยวกับการแบ่งเงินได้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และภาษีที่จ่ายไปในแต่ละประเทศที่บริษัทในเครือตั้งอยู่ ทำให้สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงในการวางแผนเพื่อหลบเลี่ยงภาษีในเบื้องต้นของกลุ่มบริษัทข้ามชาติดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 พฤษภาคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ