ร่างกฎกระทรวงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายใต้พิธีสารมาดริด พ.ศ. .... และคำประกาศ

ข่าวการเมือง Tuesday May 30, 2017 17:30 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายใต้พิธีสารมาดริด พ.ศ. .... และคำประกาศ (Declarations) ของประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริด (Madrid Protocol)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายใต้พิธีสารมาดริด พ.ศ. ....

2. เห็นชอบการทำคำประกาศ (Declarations) ภายใต้พิธีสารมาดริด (Madrid Protocol) และระเบียบร่วม (Common Regulations) โดยหากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่มิได้เป็นสาระสำคัญ พณ. ไม่ต้องเสนอเรื่องเพื่อขอความเห็นชอบอีก

3. เห็นชอบและมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำภาคยานุวัติสาร (Instrument of accession) ที่มีคำประกาศตามข้อ 2. แนบท้ายเพื่อการเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดเมื่อ พณ. มีหนังสือแจ้ง กต. ว่าได้ดำเนินการภายในต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการออกกฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ร่างกฎกระทรวงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายใต้พิธีสารมาดริด พ.ศ. ....

มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปฏิบัติงานตามระบบการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายใต้พิธีสารมาดริดตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 ดังนี้

1.1 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข แบบพิมพ์ ภาษาที่ใช้ รายการข้อความในคำขอจดทะเบียนระหว่างประเทศ

1.2 กำหนดวิธีการติดต่อกับนายทะเบียน

1.3 กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานในการตรวจสอบคำขอจดทะเบียนระหว่างประเทศของนายทะเบียนในฐานะสำนักงานต้นทาง และขั้นตอนการแก้ไขความบกพร่องในกรณีที่สำนักระหว่างประเทศแจ้งว่ามีความพกพร่อง

1.4 กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานในการตรวจสอบคำขอจดทะเบียนระหว่างประเทศที่ส่งมาจากสำนักระหว่างประเทศซึ่งระบุประเทศไทยเป็นประเทศที่ขอรับความคุ้มครอง และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแจ้งหรือส่งคำสั่งของนายทะเบียนถึงผู้ขอจดทะเบียนโดยผ่านสำนักระหว่างประเทศ

2. คำประกาศ (Declarations) ของประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีพีธีสารมาดริด ได้แก่

2.1 คำประกาศภายใต้พิธีสารมาดริด (Madrid Protocol) มีสาระสำคัญ

(1) เป็นการกำหนดเวลาแจ้งการปฏิเสธคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจาก 1 ปี เป็น 18 เดือน ตาม Article 5(2)(b) (Extension to 18 months of the refusal period) เพื่อให้นายทะเบียนมีระยะเวลาในการตรวจสอบและพิจารณาคำขอจดทะเบียนอย่างละเอียดรอบคอบก่อนแจ้งคำสั่งรับจดทะเบียนหรือไม่รับจดทะเบียนไปยังสำนักระหว่างประเทศ

(2) เป็นการกำหนดเวลาแจ้งการปฏิเสธคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายหลัง 18 เดือนในกรณีที่มีการคัดค้านการจดทะเบียน ตาม Article 5(2)(c) (Possible notification of refusals based on an opposition after the 18–month time limit) เพื่อให้นายทะเบียนสามารถแจ้งว่ามีการคัดค้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในกรณีที่มีการคัดค้านภายหลังระยะเวลา 18 เดือนได้

(3) เป็นการกำหนดค่าธรรมเนียมเฉพาะราย (Individual Fees) แทนการรับส่วนแบ่งจากค่าธรรมเนียมรายจำพวกที่เพิ่มขึ้น (Supplementary Fee) และค่าธรรมเนียมรายประเทศ (Complementary Fee) ที่สำนักระหว่างประเทศ (International Bureau – IB) จัดสรรให้ตาม Article 8 (7)(a) (Individual Fees) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเรียกให้ชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนตามอัตราที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ฉบับปัจจุบันได้

2.2 คำประกาศภายใต้ระเบียบร่วม (Common Regulations) มีสาระสำคัญเป็นคำประกาศสำหรับประเทศที่กฎหมายภายในกำหนดให้มีการบันทึกการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าในทะเบียน แต่ขอให้การบันทึกทางทะเบียนระหว่างประเทศไม่มีผลในประเทศไทย ตาม Rule 20bis(6)(b) (Recording of licenses provided for in the domestic law,but the recording of licenses in the International Register has no effect) เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ฉบับปัจจุบันซึ่งบัญญัติให้การทำสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 พฤษภาคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ