1. อนุมัติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินโครงการทางพิเศษสายพระราม 3– ดาวคะนอง–วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก
2. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... ตามโครงการทางพิเศษสายพระราม 3–ดาวคะนอง–วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ ให้ คค. โดย กทพ. ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 อย่างเคร่งครัด สำหรับในส่วนของโครงการในช่วง กม. 13+000 ถึง กม. 11+200 ระยะทางประมาณ 1.8 กิโลเมตร ซึ่งเชื่อมต่อกับโครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) นั้น ให้ กทพ. ประสานกับกรมทางหลวง เพื่อเร่งรัดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ ในช่วงดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ก่อนดำเนินการก่อสร้างโครงการ ตามความเห็นคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
3. ให้ คค. และ กทพ. รับความเห็นของกระทรวงการคลัง คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
4. ให้ กทพ. เร่งรัดการดำเนินโครงการฯ และประสานงานกับกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การระดมทุนผ่านกองทุนรวม TFF และแผนดำเนินการก่อสร้างโครงการสอดคล้องกัน และเพื่อให้ทั้งสองส่วนสามารถดำเนินการควบคู่กันไปอย่างมีประสิทธิภาพตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ รวมทั้งอนุมัติในหลักการให้ กทพ. สามารถกู้เงินระยะสั้น (Bridge Financing) เพื่อชำระค่าก่อสร้างไปก่อนในกรณีที่กองทุนรวม TFF ไม่สามารถจัดตั้งได้ทัน ตามแผนการก่อสร้างโครงการฯ แล้วนำเงินจากการจัดตั้งกองทุนรวม TFF มาชำระคืนเงินกู้ระยะสั้น โดยให้กระทรวงการคลังร่วมกับ กทพ. เป็นผู้พิจารณาแหล่งเงินกู้ วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงินที่เหมาะสม ตลอดจนเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวไปก่อน
5. ให้กระทรวงการคลังหารือร่วมกับ กทพ. เพื่อพิจารณามาตรการหรือแนวทางในการลดผลกระทบจากการระดมทุนผ่านกองทุนรวม TFF ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว โดยนำความเห็นของ กทพ ไปประกอบพิจารณาต่อไป
6. ให้ คค. และ กทพ. เร่งเตรียมการในส่วนของโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออกให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามแนวทางของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560
คค. รายงานว่า ปัจจุบันเส้นทางหลักในการเดินทางจากกรุงเทพมหานครสู่ภาคใต้จะใช้ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาโดยสะพานพระราม 9 ไปบรรจบถนนพระรามที่ 2 บริเวณดาวคะนอง และใช้ถนนพระรามที่ 2 เดินทางไปสู่ภาคใต้ ซึ่งเส้นทางดังกล่าวมีปริมาณจราจรที่หนาแน่นและติดขัดมาก อีกทั้งสะพานพระราม 9 ได้มีการเปิดให้บริการมาเป็นระยะเวลานาน (เกือบ 30 ปี) ซึ่งในอนาคตจะต้องปิดซ่อมบำรุงใหญ่
ดังนั้น กทพ. จึงมีแนวคิดในการพัฒนาโครงการทางพิเศษสายพระราม 3–ดาวคะนอง–วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษในเขตเมืองไปยังโครงข่ายถนนหลักในการเดินทางสู่ภาคใต้โดยตรง เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางและขนส่งสินค้า และสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของประเทศ รวมทั้ง เพื่อใช้เป็นเส้นทางในการเดินทางและการขนส่งสินค้าในกรณีเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติและเหตุฉุกเฉิน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 มิถุนายน 2560--