การให้ภาคยานุวัติเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท

ข่าวการเมือง Tuesday June 20, 2017 16:30 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท

2. เห็นชอบในการจัดทำภาคยานุวัติสารประกาศว่าการแก้ไขเนื้อหาในภาคผนวกใด ๆ ของอนุสัญญาฯ จะมีผลใช้บังคับกับประเทศไทยต่อเมื่อได้มอบภาคยานุวัติสารต่อการแก้ไขภาคผนวกนั้นแล้วและมอบหมายกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการจัดทำภาคยานุวัติสารดังกล่าว พร้อมทั้งส่งมอบให้สำนักเลขาธิการสหประชาติภายในวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ต่อไป

3. เห็นชอบให้มีการแจ้ง

(1) ยินยอมให้มีการนำเข้าปรอทจากประเทศภาคี

(2) ยินยอมให้มี การนำเข้าปรอทจากประเทศนอกภาคี

(3) ขอยกเว้นให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอท จำนวน 7 ประเภท

(4) ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการเพื่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ และ

(5) แต่งตั้งกรมควบคุมมลพิษ ทส. เป็นศูนย์ประสานงานระดับชาติ (National focal point) ในการประสานการปฏิบัติตามข้อ 17 (4) ของอนุสัญญาฯ โดยให้แจ้งข้อมูลทั้งหมดไปพร้อมกับภาคยานุวัติสาร

4. อนุมัติให้นำวิธีการอนุญาโตตุลาการมาใช้ในการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากอนุสัญญาฯ

5. เห็นชอบกับแผนการเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เพื่อเป็นกรอบการ

ดำเนินงานและกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบพร้อมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปปฏิบัติต่อไป

6. มอบหมายให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ดำเนินการออกอนุบัญญัติเพื่อรองรับการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท ตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดในข้อเสนอในการออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อการภาคยานุวัติในอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท และรายงานผลการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรีทราบต่อไป

ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดตามแผนการเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เพื่อรองรับการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอทต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส. รายงานว่า

อนุสัญญาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากการปลดปล่อยสู่บรรยากาศและการปล่อยสู่ดินหรือน้ำของปรอทและสารประกอบปรอทจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยมีประเทศลงนามในอนุสัญญามินามาตะฯ 128 ประเทศ และมีประเทศที่ให้สัตาบัน (Ratification) แล้ว 51 ประเทศ (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2560) ซึ่งอนุสัญญาฯ มีผลใช้บังคับใน 90 วัน หลังจากมีประเทศให้สัตยาบัน (Ratification) หรือภาคยานุวัติ (Accession) ครบ 50 ประเทศ

อนุสัญญาฯ มีสาระสำคัญมุ่งเน้นการควบคุม ลด และเลิก สำหรับการผลิตการนำเข้าและส่งออก การใช้ การปลดปล่อย การปล่อยปรอทและสารประกอบปรอท จากแหล่งกำเนิดที่เป็นประเด็นปัญหาสำคัญระดับโลก การบริหารจัดการในประเด็นต่าง ๆ ของสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ และภาคผนวกเป็นรายการแหล่งที่มาของปรอทและสารประกอบปรอทที่จะต้องถูกควบคุมภายใต้อนุสัญญาฯ รวมทั้งกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 มิถุนายน 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ