คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี 2560 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
1. มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
1) มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในการบริจาคเงินหรือทรัพยืสินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปัจจุบันตามประมวลรัษฎากร บุคคลธรรมดา และบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้
1.1) กรณีบุคคลธรรมดา สามารถนำเงินที่บริจาคไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เท่าที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้สุทธิ ตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากร พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 527) พ.ศ. 2554 และตาม ข้อ 2 (70) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
1.2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำเงินหรือมุลค่าทรัพย์สิน ที่บริจาคไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้เท่าที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้น รัษฎากร (ฉบับที่ 527) พ.ศ. 2554
ทั้งนี้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลร่วมกันบริจาคเงินหรือทรัพย์สินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้มากยิ่งขึ้น จึงเห็นสมควรกำหนดให้สามารถนำจำนวนเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2560 ไปหักเป็นค่าลดหย่อน/รายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นจากสิทธิการหักรายจ่าย ตามปกติอีกเป็นจำนวนร้อยละห้าสิบ ผ่านส่วนราชการ กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี องค์การหรือสถานสาธารณกุศล บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่เป็นตัวแทนรับเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
2) มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
2.1) มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ที่ราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย
กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งในลักษณะถาวรกับตัวอาคารหรือในที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคาร หรือในการซ่อมแซมห้องชุดในอาคารชุดหรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งในลักษณะถาวรกับห้องชุดในอาคารชุดที่ได้จ่าย ระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกินหนึ่งแสนบาท
2.2) มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถยนต์
กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก หรืออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่ได้จ่ายระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกินสามหมื่นบาท
ทั้งนี้ ต้องออกเป็นกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร
2. โครงการสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยและภัยพิบัติ ปี 2560 (ปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยภาคใต้ ปี 2560)
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 เห็นชอบมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปี 2560 เพิ่มเติม โดยให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ดำเนินโครงการสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยภาคใต้ ปี 2560 (โครงการฯ) วงเงิน 5,000ล้านบาท และรัฐบาลชดเชยในวงเงินไม่เกิน 825 ล้านบาท ในการนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ รวมทั้งพื้นที่อื่น ๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในปี 2560 จึงเห็นควรปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการฯ ดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ รวมทั้งพื้นที่อื่น ๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในปี 2560 โดยการกำหนดเขตพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติตามโครงการฯ นี้ ให้เป็นไปตามที่ ธพว. หรือ ปภ. กำหนดเป็นคราว ๆ ไป ทั้งนี้ ให้มีระยะเวลาการขอสินเชื่อ 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหรือจนกว่าจะเต็มวงเงินแล้วแต่อย่างหนึ่ง อย่างใดจะถึงก่อน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 สิงหาคม 2560--