มาตรการการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบ อันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัย ในภาคใต้

ข่าวการเมือง Tuesday August 8, 2017 16:51 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐนำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบ อันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัย ในภาคใต้ที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุพิจารณาแล้วในการประชุม ครั้งที่ 8/2560 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 ไปถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) นำมาตรการนี้ไปใช้บังคับในการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามที่กระทรงการคลัง (กค.) เสนอ

ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุเร่งพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยดังกล่าวเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันท่วงทีและเกิดความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการในพื้นที่ดังกล่าว

หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบทางตรงหรือได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการเกิดเหตุอุทกภัยในภาคใต้ ในช่วงเดือนธันวาคม 2559 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 มีดังนี้

1. ผู้มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือ

1.1 เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างเท่านั้น

1.2 ผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560

1.3 ผู้ประกอบการก่อสร้างที่มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

(1) ผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบทางตรง ในพื้นที่ภาคใต้ 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพัทลุง จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดตรัง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดกระบี่ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นจังหวัดที่ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้

(2) ผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม ในพื้นที่ภาคใต้ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพังงาและจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดใกล้เคียงกับพื้นที่ที่ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้ และได้รับความเสียหายใน 3 ลักษณะ คือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ วัสดุก่อสร้าง และปัญหาเส้นทางคมนาคมได้รับความเสียหาย

1.4 เป็นผู้รับจ้างที่ได้ลงนามทำสัญญาจ้างกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยบังคับใช้กับสัญญาจ้างก่อสร้างที่ได้ลงนามกับหน่วยงานก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2559 หรือสัญญาจ้างก่อสร้างที่ได้ลงนามไว้กับหน่วยงาน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งสัญญาดังกล่าวยังมีนิติสัมพันธ์อยู่และยังมิได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้าย หรือสัญญาดังกล่าวยังมีนิติสัมพันธ์อยู่แต่ได้ส่งมอบงานงวดสุดท้ายในช่วงวันที่ 1 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่เกิดอุทกภัย

2. แนวทางการให้ความช่วยเหลือ ให้หน่วยงานขยายระยะเวลาขอสัญญาจ้างก่อสร้างที่เข้าข่ายหลักเกณฑ์ผู้มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือ ดังนี้

(1) ขยายระยะเวลาออกไปอีก จำนวน 120 วัน สำหรับผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบทางตรง

(2) ขยายระยะเวลาออกไปอีก จำนวน 70 วัน ผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 สิงหาคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ