1. รับทราบการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ในการต่อต้านการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำ “คู่มือแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมสำหรับนิติบุคคลในการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ” ไปเผยแพร่แก่กลุ่มเป้าหมายและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. รับทราบแนวทางการจัดงานประกาศเจตนารมณ์ภาครัฐและเอกชนในการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ
3. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. ศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรือมาตรการ เพื่อส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ
สำนักงาน ป.ป.ช. รายงานว่า ตามที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 123/5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยกำหนดฐานความผิดสำหรับ นิติบุคคล ในกรณีที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลได้ให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ นั้นเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมให้การต่อต้านการสินบนเจ้าหน้าทที่ของรัฐเป็นไปตามมาตรฐานสากล สำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องและเสนอแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งประกอบด้วย
1. การจัดทำคู่มือแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมสำหรับนิติบุคคลในการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำคู่มือดังกล่าวไปเผยแพร่แก่กลุ่มเป้าหมายและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
2. การจัดงานประกาศเจตนารมณ์ภาครัฐและเอกชนในการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ (Dinner talk) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 27 กันยายน 2560
3. การจัดทำรายงานวิจัย “โครงการศึกษาความเหมาะสม และความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรฐกิจ ค.ศ. 1997 ว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศ (OECD Anti-Bribery Convention)” และมอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. ศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรือมาตรการเพื่อส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อไปใน 3 ประเด็น ได้แก่
(1) การกำหนดห้าม มิให้ค่าใช้จ่ายที่เป็นสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐถือเป็นรายจ่ายที่สามารถนำมาคำนวณกำไรสุทธิ (Tax Non-Deductibility)
(2) การกำหนดฐานความผิดที่ชัดเจนสำหรับบริษัทที่ไม่มีมาตรการกำกับดูแลด้านการบัญชี และ
(3) การลดโทษให้กับผู้ให้สินบนที่รับสารภาพว่ากระทำความผิด
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 สิงหาคม 2560--