(ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564)

ข่าวการเมือง Tuesday August 15, 2017 16:23 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศเสนอ

ทั้งนี้ ให้สศช. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ ฯ ให้สำเร็จและใช้ประโยชน์ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดและรายงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อบูรณาการการดำเนินการในภาพรวมต่อไป

(ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสตกส์ของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการดำเนินการในช่วงระยะที่ 1 ของการดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาโลจิสติกส์ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีเป้าหมายคือ การเป็นชาติการค้าและบริการเพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2579 ทั้งนี้ แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาโลจิสติกส์ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนดกรอบการดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ

(1) ระยะ 1-5 ปี ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)

(2) ระยะ 5-10 ปี : ผลักดันการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าในอนุภูมิภาคและภูมิภาค เชื่อมโยงการประกอบธุรกรรมทางการค้ารูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) พัฒนาระบบโลจิสติกส์สู่การเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Logistics) อย่างสมบูรณ์ ขจัดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทั้งด้านโครงสร้างและระบบ และ

(3) ระยะ 20 ปี : มุ่งสู่ความเป็นชาติการค้าและบริการของประเทศไทย ที่ได้กำหนดไว้ในทิศทางและตำแหน่งยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศด้วยการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้มีความสามารถในการแข่งขันได้บนเวทีโลก สร้างประโยชน์จากห่วงโซ่มูลค่าในภูมิภาคและใช้ฐานเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของตนเอง

ทั้งนี้ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ฯ ประกอบด้วย 3 ยุทะศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเพิ่มมูลค่าระบบห่วงโซ่อุปทาน เพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานให้ได้ระดับสากลและสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มและบริหารจัดการได้ทั้งห่วงโซ่อุปทาน ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า และระบบห่วงโซ่อุปทานเส้นทางการค้าในกลุ่ม CLMV และจีน ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนด้านโลจิสติกส์โดยเฉพาะเร่งผลิตกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และระบบติดตามประเมินผลเพื่อการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ของประเทศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 สิงหาคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ