1. เห็นชอบในหลักการมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ตามขั้นตอนของระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการติดตามการดำเนินงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป
2. ให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการด้วย
มาตรการที่ 1 : มาตรการทางด้านการตลาด (Marketing) เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต/ธุรกิจบริการให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเป็นหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Demand Driven) โดยกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการที่ต้องการปรับเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเนื่องจากการลงทุนซื้อหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งประมาณการว่าจะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 80-90 ในการทดแทนเครื่อจักรเดิม จึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนเป็นหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
มาตรการที่ 2 : มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ System Integrator (SI) ในประเทศไทย เพื่อผลักดัน System Integrator (SI) ให้มีจำนวนเพียงพอในการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอนาคต (ปัจจุบัน SI ที่มีศักยภาพมีจำนวน เพียง 200 ราย)
มาตรการที่ 3 : มาตรการสร้างอุปทาน (Supply) เพื่อยกระดับกระบวนการผลิต มาตรฐานและผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
มาตรการที่ 4 : มาตรการสร้าง Center of Robotics Excellence (CoRE) สำหรับพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และการส่งเสริมการใช้งานด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนและเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยบูรณาการความร่วมมือเป็นเครือข่ายระหว่างหน่วยงานชั้นนำของประเทศ และ
มาตรการที่ 5 : มาตรการด้านอื่น ๆ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 สิงหาคม 2560--