เรื่อง การประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 22 (The 22nd GMS Ministerial Conference) ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
1. เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 22 (Joint Ministerial Statement) และร่างกรอบการลงทุนของภูมิภาค ปี 2565 (Regional Investment Framework 2022 : RIF-2022) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และร่างกรอบการลงทุนของภูมิภาค ปี 2565 ให้ สศช. สามารถดำเนินการได้ โดย สศช. จะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบในภายหลังหากมีการปรับปรุงแก้ไขพร้อมด้วยเหตุผลประกอบ
2. เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) ได้ร่วมกับรัฐมนตรีของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 22 และร่างกรอบการลงทุนของภูมิภาค ปี 2565 โดยไม่มีการลงนามในการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 22 ในวันที่ 20 กันยายน 2560
สาระสำคัญของเรื่อง
1. สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยกระทรวงวางแผนและการลงทุนร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank ADB) จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 22 ระหว่างวันที่ 18 – 20 กันยายน 2560 ณ โรงแรมเชอราตัน กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งในวันที่ 20 กันยายน 2560 จะมีการรับรองแถลงการณ์ ร่วมระดับรัฐมนตรีและกรอบการลงทุนของภูมิภาคปี 2565
2. ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเข้าร่วมประชุมดังกล่าว มีดังนี้
(1) สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่างประเทศตามแนวนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)
(2) เป็นโอกาสในการเสนอบทบาทความเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในอนุภูมิภาคและศูนย์กลางการพัฒนาและการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในภูมิภาคด้ายการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนด้านการเงินและวิชาการ แก่ประเทศเพื่อนบ้านและอนุภูมิภาค ตลอดจนเป็นโอกาสในการหารือและหาแนวทาง ทางแก้ปัญหาและขจัดข้อจำกัดทางด้านสังคมและร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยประเด็นหารือ ประกอบด้วย ด้านการลงทุน ด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาพื้นที่ชายแดน ด้านพลังงาน และด้านสิ่งแวดล้อม
1) คมนาคม
2) การอำนวยความสะดวกทางการค้าและคมนาคมขนส่ง
3) พลังงาน
4) เกษตร
5) สิ่งแวดล้อม
6) ท่องเที่ยว
7) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
8) การพัฒนาเมืองและชายแดน
9) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และ
10) การลงทุน
1. ภาพรวมของภูมิภาค โดยมีโครงการความร่วมมือจำนวน 226 โครงการ ประกอบด้วย โครงการลงทุน 149 โครงการ และโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการอีก 77 โครงการ โดยโครงการลงทุนยังมุ่งเน้นแผนงานด้านคมนาคม รวมถึงสาขาความร่วมมือใหม่ ได้แก่ สาขาการพัฒนา สาขา ICT และสาขาการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
2. ภาพรวมในส่วนของประเทศไทย มีโครงการความร่วมมือ จำนวน 76 โครงการ โดยมีแผนงานที่ได้รับการลงทุนมากที่สุดเรียงลำดับ ดังนี้
1. สาขาคมนาคม จำนวน 22 โครงการ
2. สาขาพลังงาน จำนวน 15 โครงการ
3. สาขาท่องเที่ยว จำนวน 8 โครงการ
4. สาขาสิ่งแวดล้อม จำนวน 5 โครงการ และสาขาอื่น ๆ ได้แก่ ส่งเสริมความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร การเพิ่มทักษะแรงงานและการเคลื่อนย้ายแรงงานในภูมิภาคอย่างปลอดภัย การคุ้มครองสุขภาพของแรงงานข้ามแดน การลดความซับซ้อนของมาตรการศุลกากร การพัฒนาบุคลากรสาขา ICT และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนกับ สปป.ลาว
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 กันยายน 2560--