คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงสถานที่เก็บรักษาก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
พน. เสนอว่า โดยที่มาตรา 7 (1) (2) (3) (5) และ (7) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การเก็บรักษาและการควบคุมอื่นใดเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติ ที่ตั้ง แผนผัง รูปแบบ ลักษณะของสถานที่เก็บรักษาก๊าซธรรมชาติและการบำรุงรักษาสถานที่ดังกล่าว ลักษณะของถังหรือภาชนะที่ใช้ในการบรรจุก๊าซธรรมชาติและการบำรุงรักษาถังหรือภาชนะดังกล่าว และกำหนดวิธีการปฏิบัติงาน การจัดให้มีและบำรุงรักษาอุปกรณ์หรือเครื่องมืออื่นใดภายในสถานที่ดังกล่าว รวมทั้งกำหนดการอื่นใดอันจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่การป้องกันและระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ หรือความเสียหาย หรืออันตรายที่จะมีผลกระทบต่อบุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม ประกอบกับในปัจจุบันยังไม่มีหลักเกณฑ์ และวิธีการในการปฏิบัติเกี่ยวกับสถานที่เก็บรักษาก๊าซธรรมชาติ การประกอบกิจการสถานที่เก็บรักษาก๊าซธรรมชาติ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงสถานที่เก็บรักษาก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. .... ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 แล้ว จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงสถานที่เก็บรักษาก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
1. กำหนดให้สถานที่เก็บรักษาก๊าซธรรมชาติเป็นกิจการที่ต้องได้รับใบรับแจ้งการประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 2 (กิจการที่จะประกอบกิจการ ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน) จากกรมธุรกิจพลังงาน
2. กำหนดให้สถานที่เก็บรักษาก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ สถานที่เฉพาะพื้นที่การติดตั้งระบบรถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือใช้สำหรับการตรวจสอบและทดสอบการติดตั้งระบบรถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือใช้ในงานเพื่อการศึกษาหรืองานวิจัยเท่านั้น
3. กำหนดให้สถานที่เก็บรักษาก๊าซธรรมชาติต้องเก็บรักษาก๊าซธรรมชาติไว้ในถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ หรือกลุ่มถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ โดยต้องเป็นชนิดที่ติดตั้งแบบเหนือพื้นดิน และต้องอยู่ที่ระดับชั้นล่างของอาคารเก็บก๊าซธรรมชาติ ห้ามติดตั้งไว้บนดิน
4. กำหนดให้สถานที่เก็บรักษาก๊าซธรรมชาติต้องแสดงรายละเอียดของแผนผังโดยสังเขป แสดงตำแหน่งที่ตั้งถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ เครื่องสูบอัด ระบบท่อ ระบบป้องกัน และระงับอัคคีภัย พร้อมทั้งแบบก่อสร้าง แบบระบบไฟฟ้า แบบอาคารเก็บก๊าซธรรมชาติและรายการคำนวณความมั่นคงแข็งแรง และการออกแบบ สร้าง ติดตั้ง ตรวจสอบและทดสอบ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และก่อนการใช้งานต้องทำการทดสอบและตรวจสอบเพื่อป้องกันความเสียหายและอันตราย
5. กำหนดลักษณะอาคารเก็บก๊าซธรรมชาติ โดยพื้นต้องเป็นคอนกรีตเรียบ ฝาและผนังต้องเป็นวัตถุทนไฟ ต้องมีช่องระบายอากาศ หลังคาต้องทำด้วยวัสดุติดไฟได้ยาก หรือไม่เป็นเชื้อเพลิง ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติ เครื่องสูบอัดก๊าซธรรมชาติต้องตั้งไว้ในที่ที่มีการระบายอากาศอย่างเหมาะสม มีป้ายห้ามและคำเตือนเพื่อความปลอดภัย และห้ามเก็บวัตถุไวไฟ หรือพักอาศัยในอาคารดังกล่าว
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 ตุลาคม 2560--