ทำเนียบรัฐบาล--30 พ.ค.--นิวส์สแตนด์
คณะกรรมการรัฐมนตรีว่าด้วยนโยบายเศรษฐกิจรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ เกี่ยวกับสรุปผลการหารือเพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันและแนวโน้ม ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วน คือ 1) ภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 2) เศรษฐกิจมหภาค 3) ภาคการผลิตและบริการ และ 4) แนวทางการสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งในระยะต่อไป ดังมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. ภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ต้นปี 2542 มีความชัดเจนมากขึ้นในครึ่งหลังของปี และต่อเนื่องมาตลอดช่วง 4 เดือนแรกของปี 2543 โดยเป็นการฟื้นตัวที่มีการใช้จ่ายภาครัฐ และการขยายตัวของการส่งออกเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ ตามด้วยการปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ปัจจัยเหล่านี้มีแนวโน้มว่าจะสนับสนุนการฟื้นตัวในระยะต่อจากนี้ไป ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนตามการขยายตัวของการส่งออกและการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชน รวมทั้งความต้องการลงทุนเพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีและประสิทธิภาพการผลิตให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ในระยะต่อไป
ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2543 มีปัจจัยลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ได้แก่ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา การปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ยังอยู่ในระดับสูง และระบบสถาบันการเงินยังไม่สามารถดำเนินการได้เป็นปกติ รวมทั้งปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่ไม่คาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะรุนแรงจนกระทั่งทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้อีก
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2543 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2542 ในอัตราร้อยละ 4.4 - 5.0 ปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ได้แก่ การส่งออก การลงทุน และการบริโภคภาคเอกชน เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 2.0 - 2.5 โดยที่ปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวในระดับที่ประมาณการนี้ประกอบด้วย การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่อาจจะทำให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างรวดเร็ว (Hard Landing) แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก และความล่าช้าของการแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่อาจจะมีผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้บริโภคและนักลงทุน
2. เศรษฐกิจมหภาค
2.1 การขยายตัวทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจโดยรวมวัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รายไตรมาสเริ่มขยายตัวได้ด้วยอัตราร้อยละ 0.2 ในไตรมาสแรกปี 2542 และขยายตัวต่อเนื่องด้วยอัตราร้อยละ 2.6 ร้อยละ 7.4 และร้อยละ 6.5 ในสามไตรมาสหลังตามลำดับ
จากการประเมินจากตัวเลขและดัชนีชี้เศรษฐกิจระยะสั้น แสดงว่าเศรษฐกิจโดยภาพรวมในไตรมาสที่ 1 ปี 2543 ยังคงอยู่ในช่วงของการขยายตัวจากไตรมาสแรกปีที่แล้วอย่างชัดเจน โดยปัจจัยบวกต่อการฟื้นตัวประกอบด้วย 1) ภาวะการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีมากในช่วงไตรมาสแรก 2) ภาวะการใช้จ่ายของครัวเรือนที่ยังคงเพิ่มขึ้น 3) ภาวะการลงทุนใหม่ของภาคเอกชนที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัว 4) ภาครัฐยังคงใช้จ่ายต่อเนื่อง และ 5) อัตราการว่างงานลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปีที่แล้วคือ มีจำนวนผู้ว่างงาน 1.54 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานเป็นร้อยละ 4.7 ลดลงจากการว่างงาน 1.72 ล้านคนของปีที่แล้ว หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานเป็นร้อยละ 5.2 นอกจากนี้จำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมก็เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบอัตราการขยายตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญ ๆ ในไตรมาสแรกปีนี้กับอัตราการขยายตัวในปี 2542 คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสแรกปีนี้อาจจะอ่อนตัวกว่าอัตราการขยายตัวในสองไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากมีปัจจัยบางตัวที่มีผลกระทบต่อภาวะการผลิตและการใช้จ่ายภาคเอกชน ได้แก่ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรก การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและภาวะตลาดหุ้นตกต่ำในสหรัฐฯ ที่ทำให้ภาวะตลาดหุ้นไทยอ่อนไหวและตกต่ำตามไปด้วย และราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงอ่อนตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้การขยายตัวในระดับสูงในครึ่งหลังของปี 2542 นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลเนื่องมาจากฐานที่ต่ำ (Base Effect) ของวิกฤตการณ์ในปี 2541
2.2 เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและปัญหาราคาน้ำมัน
2.2.1 เสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม เครื่องชี้ด้านเสถียรภาพ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน ดุลบัญชีเดินสะพัดและทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ยังแสดงถึงความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม
- อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ใน 4 เดือนแรกของปี 2543 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.9 ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงขึ้นกว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2542 ค่อนข้างชัดเจน ดัชนีราคาในหมวดอาหารลดลงร้อยละ 1.7 ตามราคาผักผลไม้และอาหารเกือบทุกประเภท ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคในหมวดที่ไม่รวมอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องจากการปรับตัวทางด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันโดยเฉพาะหมวดพาหนะขนส่ง โดยที่การปรับตัวด้านอุปสงค์ยังไม่มีผลต่อระดับราคาเท่าใดนัก อัตราเงินเฟ้อใน 4 เดือนแรกนี้ที่ต่ำกว่าเฉลี่ยทั้งปีที่ประมาณการไว้ร้อยละ 2.0 - 2.5
- อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพ ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงบ้างในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม อันเนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลง แต่ก็เป็นการเคลื่อนไหวในช่วงที่ไม่กว้างมาก โดยยังคงมีเสถียรภาพอยู่ในระดับเฉลี่ย 37.349 - 37.971 บาท
- ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ 32.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 7.5 เดือน
- โครงสร้างหนี้ต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น หนี้ต่างประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน โดยที่หนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่หนี้ภาคเอกชนลดลง ทำให้สัดส่วนหนี้ระยะยาวเพิ่มขึ้นและหนี้ระยะสั้นลดลง
2.2.2 การแก้ปัญหาราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบได้เพิ่มสูงขึ้นชัดเจนตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และต่อเนื่องในไตรมาสแรกปีนี้ซึ่งราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 25.52 ดอลลาร์ต่อบาเรล และราคาน้ำมันเบนซินชนิดไร้สารตะกั่ว ณ ตลาดจรสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเป็น 30.63 ดอลลาร์ต่อบาเรล จากระดับราคาเฉลี่ย 25.28 ดอลลาร์ต่อบาเรล ในไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้ว ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตาม โดยราคาน้ำมันเบนซินขายปลีกอยู่ในระดับเฉลี่ย 14.63 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ย 11.71 บาทต่อลิตร ซึ่งมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า แต่เป็นผลกระทบที่ค่อนข้างชัดเจนในเฉพาะบางหมวดสินค้าหรือสาขาการผลิต อาทิ การผลิตปูนซิเมนต์ สาขาประมง และสาขาการขนส่งในขณะที่ในหมวดการผลิตสินค้าส่วนใหญ่ผลกระทบต่อต้นทุนสินค้ามีไม่มากนัก เนื่องจากน้ำมันคิดเป็นต้นทุนในการผลิตค่อนข้างต่ำ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ทำการศึกษาผลกระทบของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจพบว่า ในกรณีที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยทั้งปี 2543 ในระดับ 29 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจลดลงจากแนวโน้มเดิมร้อยละ 0.78 และมีผลกระทบทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคสูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.63 ซึ่งอยู่ในระดับที่ไม่มากนัก
เพื่อบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันรัฐบาลยังได้ดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบในรายสาขาควบคู่ไปกับมาตรการสนับสนุนการประหยัดพลังงาน นอกจากนี้การปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคขึ้นอีก 1.45 ล้านบาเรลต่อวัน ประกอบกับการเข้าสู่ฤดูร้อนในทวีปอเมริกาและยุโรปทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลงตามลำดับจาก 25.52 ดอลลาร์ต่อบาเรล ในไตรมาสแรกเป็น 22.66 ดอลลาร์ต่อบาเรล ในเดือนเมษายน ดังนั้น โดยภาพรวมทั้งปี 2543 ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ในระดับ 22 - 23 ดอลลาร์ต่อบาเรล ซึ่งจะเป็นระดับที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
2.3 ภาวะตลาดหลักทรัพย์ ความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 400 จุดในช่วงเดือนมกราคม ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ แต่ได้ปรับตัวลดลงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 400 จุดมาโดยตลอดตั้งแต่ครึ่งหลังของเดือนกุมภาพันธ์จนถึงปัจจุบัน ที่ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ได้ลดต่ำลงเกือบถึงระดับ 300 จุด โดยปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์นั้นมีทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกได้แก่ การที่สหรัฐอเมริกาพยายามลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจโดยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันมาหลายครั้ง และการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งการเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศซึ่งอ่อนไหวตามการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ และดาวโจนส์ ปัจจัยภายในได้แก่ ความล่าช้าของการแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศ เช่น Morgan Stanley Capital International (MSCI) ได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยลดลง และเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในไต้หวันมาเลเซีย และจีน
ปัจจัยที่จะมีผลในทางบวกต่อตลาดหลักทรัพย์ในภาพรวม คือ ผลการประกอบการของธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มิใช่สถาบันการเงิน อาทิเช่น กลุ่มสื่อสาร กลุ่มวัสดุ ก่อสร้างและตกแต่ง กลุ่มกระดาษและเยื่อกระดาษ กลุ่มขนส่ง และกลุ่มพลังงาน
2.4 ภาวะตลาดเงินและปัญหาระบบสถาบันการเงิน
2.4.1 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการปรับโครงสร้างหนี้ ยอดปรับโครงสร้างหนี้แล้วเสร็จ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2543 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.285 ล้านล้านบาท จากยอดหนี้คงค้างทั้งสิ้น 2.276 ล้านล้านบาท ที่อยู่ภายใต้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินทั้งระบบภาคการเงิน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ได้ลดลงตามลำดับ โดยที่ NPLs ณ เดือนมีนาคม 2543 คิดเป็นร้อยละ 37.24 ของปริมาณสินเชื่อทั้งระบบ ลดลงจากร้อยละ 47 ในช่วงต้นปี 2542
2.4.2 การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มีแนวทาง ดังนี้
1) กำไรของธนาคารแห่งประเทศไทยภายหลังจากการรวบบัญชีจะนำส่งให้กองทุนฯ จำนวนประมาณ 130,000 ล้านบาท
2) ส่วนหนึ่งของกำไรของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะมีในอนาคต 3) รายได้จากการประมูลสินทรัพย์ของ 56 สถาบันการเงิน โดย ปรส.
4) จากการขายธนาคารที่รัฐเข้าไปแทรกแซง
5) หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน หากแต่เป็นความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จึงต้องเร่งบริหารสินทรัพย์ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ให้สามารถสร้างรายได้และเกิดความเสียหายน้อยที่สุด
2.4.3 การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การแก้ปัญหาสภาพคล่องของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เช่น การขยายความอนุเคราะห์ทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทางด้านภาคการค้าและบริการ และการรับจ้างทำของ จากเดิมที่ใช้เฉพาะภาคการผลิตเท่านั้น รวมทั้งการให้ความอนุเคราะห์ทางการเงินในรูปของเงินทุนหมุนเวียนแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ และได้ลงนามในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารมีลูกหนี้ที่ดีเพิ่มขึ้น
2.5 ภาระหนี้ของประเทศ
2.5.1 หนี้ภาครัฐ ณ สิ้นเดือนมีนาคมปี 2543 มีจำนวนประมาณ 3,260,110 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 65.12 ของ GDP ทั้งนี้การก่อหนี้สูงสุดได้แก่หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงจำนวน 983,235 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19.64 ของ GDP อันดับรองลงมาได้แก่ หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจำนวน 901,188 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกันจำนวน 897,557 ล้านบาท และหนี้ต่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 478,130 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.00 ร้อยละ 17.93 และร้อยละ 9.55 ของ GDP ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาด้านหนี้สาธารณะจะมียอดหนี้คงค้างประมาณ 2,781,980 ล้านบาท (ตามนิยามของกระทรวงการคลัง) และเป็นประมาณ 2,691.189 ล้านบาท (ตามนิยาม GFS) สำหรับยอดหนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2543 มีจำนวน 974,607 ล้านบาท
3. ภาคการผลิตและบริการ
3.1 ภาคการผลิตที่มีแนวโน้มฟื้นตัว
3.1.1 ภาคการเกษตร ปริมาณผลผลิตสาขาเกษตรในไตรมาสแรกขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสาขาพืชผล ในขณะที่ผลผลิตสาขาประมงลดลงอันเนื่องมาจากการยกเลิกสัมปทานการจับสัตว์น้ำในน่านน้ำของประเทศพม่า ประกอบกับต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปีที่แล้วตามภาวะราคาในตลาดโลกที่มีการแข่งขันสูงจากการที่มีอุปทานส่วนเกินอยู่มาก
สำหรับแนวโน้มในอนาคตทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลางนั้นค่อนข้างชัดเจนว่าการแข่งขันในตลาดสินค้าเกษตรจะเพิ่มมากขึ้น และตลาดสินค้าเกษตรเป็นตลาดผู้ซื้อ ราคาสินค้าเกษตรจึงยังไม่น่าจะปรับตัวดีขึ้น
3.1.2 ภาคอุตสาหกรรม ในไตรมาสแรกฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนโดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและภาคการส่งออก ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก 2542 อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราสูง ได้แก่ หมวดยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่งซึ่งดัชนีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 62.1 และอุตสาหกรรมต่อเนื่องประเภทผลิตภัณฑ์เหล็กเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1
ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นทั้งเพื่อการส่งออกและการใช้ภายในประเทศทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตปรับตัวดีขึ้นในทิศทางเดียวกัน โดยที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยของทุกอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 56.2 ในไตรมาสแรกปีที่แล้วเป็นร้อยละ 57.7 ในไตรมาสแรกปีนี้ แม้ว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตโดยเฉลี่ยรวมจะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ แต่เมื่อพิจารณาอัตราการใช้กำลังการผลิตในระดับรายอุตสาหกรรมย่อยจะพบว่า ในปัจจุบันมีหลายอุตสาหกรรมที่มีการผลิตจนเต็มกำลังการผลิตแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ เช่น ยางรถยนต์และแบตเตอรี่ อุตสาหกรรมแผงวงจรรวม คอมเพรสเซอร์ และผลิตภัณฑ์กระดาษและเยื่อกระดาษ
นอกจากนี้ ผลการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพบว่า มีบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงกว่าระดับเฉลี่ยของทั้งประเทศ และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยเฉลี่ยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2543 บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจากการสำรวจประมาณ 740 บริษัทมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ระดับร้อยละ 77.5 สูงกว่าระดับเฉลี่ยของประเทศ และสูงกว่าระดับร้อยละ 70.5 ในไตรมาสที่ 4 และร้อยละ 70.3 ในไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว โดยเกือบทุกอุตสาหกรรมมีการใช้อัตรากำลังการผลิตเพิ่มสูงขึ้น เช่นเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อการเกษตร (เพิ่มจากร้อยละ 29 เป็นร้อยละ 59) เครื่องยนต์เบนซินเอนกประสงค์ (เพิ่มจากร้อยละ73 เป็นร้อยละ 98) ปูนซิเมนต์ (เพิ่มจากร้อยละ 63 เป็นร้อยละ 83) และคอมเพรสเซอร์ (เพิ่มจากร้อยละ 67 เป็นร้อยละ85) เป็นต้น
3.1.3 ภาคธุรกิจบริการท่องเที่ยว สาขานี้มีปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ในไตรมาสแรกซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค และการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับที่น่าพอใจในทวีปอเมริกาและยุโรป
3.2 ภาคเศรษฐกิจที่ยังมีปัญหาเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
3.2.1 ภาคการเงิน มีความคืบหน้าด้านการปรับโครงสร้างหนี้ และ NPLs ได้ลดลงตามลำดับ โดยที่ NPLs ณ เดือนมีนาคม 2543 คิดเป็นร้อยละ 37.24 ของปริมาณสินเชื่อทั้งระบบ ลดลงจากร้อยละ 47 ในช่วงต้นปี 2542ส่วนยอดปรับโครงสร้างหนี้แล้วเสร็จ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2543 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.285 ล้านล้านบาท จากยอดหนี้คงค้างทั้งสิ้น 2.276 ล้านล้านบาท ที่อยู่ภายใต้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินทั้งระบบ
ทางด้านอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ดอกเบี้ยระหว่างธนาคารและในตลาดซื้อคืนพันธบัตรได้มีการปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยตามภาวะสภาพคล่องที่ค่อนข้างตึงตัวในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในไตรมาสแรก
3.2.2 ภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ในไตรมาสแรกเริ่มมีดัชนีชี้วัดสถานการณ์ของภาคการก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์บางตัวที่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2542 ได้แก่ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลทั้งเพื่อที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรมและอื่น ๆ การจำหน่ายสังกะสีในประเทศ ปริมาณการใช้ปูนซิเมนต์ในประเทศ การขอจดทะเบียนอาคารชุด บ้านจัดสรรจดทะเบียนเพิ่ม ในขณะที่เครื่องชี้บางตัวยังคงหดตัว อาทิเช่น ปริมาณการจำหน่ายเหล็กเส้น สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ทั้งสำหรับผู้ประกอบการและผู้บริโภค และแฟลต อาคารชุดและบ้านปลูกสร้างเองที่จดทะเบียนเพิ่ม คาดว่าสถานการณ์ของสาขาก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์น่าจะมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางดีขึ้น เมื่อพิจารณาจากดัชนีชี้นำที่สำคัญ คือ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ได้เริ่มมีการแข่งขันในการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหาเกี่ยวกับอุปทานส่วนเกินของอาคารชุดและตึกแถวคงจะยังเป็นปัญหาต่อไป
4. แนวทางการสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งในระยะต่อไป
ในขณะที่เครื่องชี้ทางด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ แสดงถึงแนวโน้มการฟื้นตัว แนวโน้มการขยายตัวในระยะต่อไปขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของอุปสงค์รวมภาคเอกชนภายในประเทศและการส่งออก ในขณะที่ภาระหนี้ภาครัฐอยู่ในระดับสูงทำให้มีข้อจำกัดด้านงบประมาณมากขึ้น ประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญคือ การดำเนินมาตรการที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวที่ยั่งยืน โดยต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทั้งในด้านการตลาดการผลิต และการบริหารจัดการซึ่งรวมถึงกฎระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนภาคเอกชน สร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจไทย และลดความอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอก
อย่างไรก็ตาม การปรับระบบเศรษฐกิจให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัตน์เศรษฐกิจจะต้องมีความสามารถในการพัฒนาบนพื้นฐานของข้อมูลและองค์ความรู้ (Information and Knowledge Based Economy) ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องสำคัญ การเสริมสร้างเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ต้องเร่งดำเนินการ ดังนี้
4.1 ด้านกฎหมายและกฎระเบียบ (Legal Infrastructure) กฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และพระราชบัญญัติลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องเร่งรัดกฎหมายอีก 4 ฉบับ ได้แก่ 1) กฎหมายลำดับรองของรัฐธรรมนูญ มาตรา 78 (เป็นการอุดช่องว่างระหว่างผู้ได้เปรียบจากการมีการใช้สารสนเทศ กับผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเกิดจากสาเหตุของความไม่ทั่วถึงทางภูมิศาสตร์ของระบบโทรศัพท์ ระบบโทรคมนาคม และการเข้าถึงข้อมูลระบบอินเตอร์เน็ต) 2) กฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ 3) กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ 4) กฎหมายเกี่ยวกับการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีและนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
4.2 ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Physical Infrastructure) ได้แก่การพิจารณาลดค่าโทรศัพท์ทางไกลจากต่างจังหวัดสำหรับการใช้อินเตอร์เน็ต การพัฒนาคุณภาพและความเร็วของระบบสื่อสาร ลดราคาเครื่องโทรศัพท์สื่อสารเคลื่อนที่ เพื่อกระตุ้นให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้นทั้งในเชิงธุรกิจและเชิงการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ชุดนายชวน หลีกภัย)--วันที่ 29 พฤษภาคม 2543--
-สส-
คณะกรรมการรัฐมนตรีว่าด้วยนโยบายเศรษฐกิจรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ เกี่ยวกับสรุปผลการหารือเพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันและแนวโน้ม ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วน คือ 1) ภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 2) เศรษฐกิจมหภาค 3) ภาคการผลิตและบริการ และ 4) แนวทางการสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งในระยะต่อไป ดังมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. ภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ต้นปี 2542 มีความชัดเจนมากขึ้นในครึ่งหลังของปี และต่อเนื่องมาตลอดช่วง 4 เดือนแรกของปี 2543 โดยเป็นการฟื้นตัวที่มีการใช้จ่ายภาครัฐ และการขยายตัวของการส่งออกเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ ตามด้วยการปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ปัจจัยเหล่านี้มีแนวโน้มว่าจะสนับสนุนการฟื้นตัวในระยะต่อจากนี้ไป ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนตามการขยายตัวของการส่งออกและการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชน รวมทั้งความต้องการลงทุนเพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีและประสิทธิภาพการผลิตให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ในระยะต่อไป
ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2543 มีปัจจัยลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ได้แก่ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา การปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ยังอยู่ในระดับสูง และระบบสถาบันการเงินยังไม่สามารถดำเนินการได้เป็นปกติ รวมทั้งปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่ไม่คาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะรุนแรงจนกระทั่งทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้อีก
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2543 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2542 ในอัตราร้อยละ 4.4 - 5.0 ปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ได้แก่ การส่งออก การลงทุน และการบริโภคภาคเอกชน เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 2.0 - 2.5 โดยที่ปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวในระดับที่ประมาณการนี้ประกอบด้วย การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่อาจจะทำให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างรวดเร็ว (Hard Landing) แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก และความล่าช้าของการแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่อาจจะมีผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้บริโภคและนักลงทุน
2. เศรษฐกิจมหภาค
2.1 การขยายตัวทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจโดยรวมวัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รายไตรมาสเริ่มขยายตัวได้ด้วยอัตราร้อยละ 0.2 ในไตรมาสแรกปี 2542 และขยายตัวต่อเนื่องด้วยอัตราร้อยละ 2.6 ร้อยละ 7.4 และร้อยละ 6.5 ในสามไตรมาสหลังตามลำดับ
จากการประเมินจากตัวเลขและดัชนีชี้เศรษฐกิจระยะสั้น แสดงว่าเศรษฐกิจโดยภาพรวมในไตรมาสที่ 1 ปี 2543 ยังคงอยู่ในช่วงของการขยายตัวจากไตรมาสแรกปีที่แล้วอย่างชัดเจน โดยปัจจัยบวกต่อการฟื้นตัวประกอบด้วย 1) ภาวะการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีมากในช่วงไตรมาสแรก 2) ภาวะการใช้จ่ายของครัวเรือนที่ยังคงเพิ่มขึ้น 3) ภาวะการลงทุนใหม่ของภาคเอกชนที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัว 4) ภาครัฐยังคงใช้จ่ายต่อเนื่อง และ 5) อัตราการว่างงานลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปีที่แล้วคือ มีจำนวนผู้ว่างงาน 1.54 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานเป็นร้อยละ 4.7 ลดลงจากการว่างงาน 1.72 ล้านคนของปีที่แล้ว หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานเป็นร้อยละ 5.2 นอกจากนี้จำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมก็เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบอัตราการขยายตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญ ๆ ในไตรมาสแรกปีนี้กับอัตราการขยายตัวในปี 2542 คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสแรกปีนี้อาจจะอ่อนตัวกว่าอัตราการขยายตัวในสองไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากมีปัจจัยบางตัวที่มีผลกระทบต่อภาวะการผลิตและการใช้จ่ายภาคเอกชน ได้แก่ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรก การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและภาวะตลาดหุ้นตกต่ำในสหรัฐฯ ที่ทำให้ภาวะตลาดหุ้นไทยอ่อนไหวและตกต่ำตามไปด้วย และราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงอ่อนตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้การขยายตัวในระดับสูงในครึ่งหลังของปี 2542 นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลเนื่องมาจากฐานที่ต่ำ (Base Effect) ของวิกฤตการณ์ในปี 2541
2.2 เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและปัญหาราคาน้ำมัน
2.2.1 เสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม เครื่องชี้ด้านเสถียรภาพ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน ดุลบัญชีเดินสะพัดและทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ยังแสดงถึงความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม
- อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ใน 4 เดือนแรกของปี 2543 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.9 ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงขึ้นกว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2542 ค่อนข้างชัดเจน ดัชนีราคาในหมวดอาหารลดลงร้อยละ 1.7 ตามราคาผักผลไม้และอาหารเกือบทุกประเภท ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคในหมวดที่ไม่รวมอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องจากการปรับตัวทางด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันโดยเฉพาะหมวดพาหนะขนส่ง โดยที่การปรับตัวด้านอุปสงค์ยังไม่มีผลต่อระดับราคาเท่าใดนัก อัตราเงินเฟ้อใน 4 เดือนแรกนี้ที่ต่ำกว่าเฉลี่ยทั้งปีที่ประมาณการไว้ร้อยละ 2.0 - 2.5
- อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพ ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงบ้างในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม อันเนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลง แต่ก็เป็นการเคลื่อนไหวในช่วงที่ไม่กว้างมาก โดยยังคงมีเสถียรภาพอยู่ในระดับเฉลี่ย 37.349 - 37.971 บาท
- ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ 32.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 7.5 เดือน
- โครงสร้างหนี้ต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น หนี้ต่างประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน โดยที่หนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่หนี้ภาคเอกชนลดลง ทำให้สัดส่วนหนี้ระยะยาวเพิ่มขึ้นและหนี้ระยะสั้นลดลง
2.2.2 การแก้ปัญหาราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบได้เพิ่มสูงขึ้นชัดเจนตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และต่อเนื่องในไตรมาสแรกปีนี้ซึ่งราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 25.52 ดอลลาร์ต่อบาเรล และราคาน้ำมันเบนซินชนิดไร้สารตะกั่ว ณ ตลาดจรสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเป็น 30.63 ดอลลาร์ต่อบาเรล จากระดับราคาเฉลี่ย 25.28 ดอลลาร์ต่อบาเรล ในไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้ว ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตาม โดยราคาน้ำมันเบนซินขายปลีกอยู่ในระดับเฉลี่ย 14.63 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ย 11.71 บาทต่อลิตร ซึ่งมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า แต่เป็นผลกระทบที่ค่อนข้างชัดเจนในเฉพาะบางหมวดสินค้าหรือสาขาการผลิต อาทิ การผลิตปูนซิเมนต์ สาขาประมง และสาขาการขนส่งในขณะที่ในหมวดการผลิตสินค้าส่วนใหญ่ผลกระทบต่อต้นทุนสินค้ามีไม่มากนัก เนื่องจากน้ำมันคิดเป็นต้นทุนในการผลิตค่อนข้างต่ำ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ทำการศึกษาผลกระทบของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจพบว่า ในกรณีที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยทั้งปี 2543 ในระดับ 29 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจลดลงจากแนวโน้มเดิมร้อยละ 0.78 และมีผลกระทบทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคสูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.63 ซึ่งอยู่ในระดับที่ไม่มากนัก
เพื่อบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันรัฐบาลยังได้ดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบในรายสาขาควบคู่ไปกับมาตรการสนับสนุนการประหยัดพลังงาน นอกจากนี้การปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคขึ้นอีก 1.45 ล้านบาเรลต่อวัน ประกอบกับการเข้าสู่ฤดูร้อนในทวีปอเมริกาและยุโรปทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลงตามลำดับจาก 25.52 ดอลลาร์ต่อบาเรล ในไตรมาสแรกเป็น 22.66 ดอลลาร์ต่อบาเรล ในเดือนเมษายน ดังนั้น โดยภาพรวมทั้งปี 2543 ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ในระดับ 22 - 23 ดอลลาร์ต่อบาเรล ซึ่งจะเป็นระดับที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
2.3 ภาวะตลาดหลักทรัพย์ ความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 400 จุดในช่วงเดือนมกราคม ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ แต่ได้ปรับตัวลดลงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 400 จุดมาโดยตลอดตั้งแต่ครึ่งหลังของเดือนกุมภาพันธ์จนถึงปัจจุบัน ที่ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ได้ลดต่ำลงเกือบถึงระดับ 300 จุด โดยปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์นั้นมีทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกได้แก่ การที่สหรัฐอเมริกาพยายามลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจโดยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันมาหลายครั้ง และการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งการเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศซึ่งอ่อนไหวตามการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ และดาวโจนส์ ปัจจัยภายในได้แก่ ความล่าช้าของการแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศ เช่น Morgan Stanley Capital International (MSCI) ได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยลดลง และเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในไต้หวันมาเลเซีย และจีน
ปัจจัยที่จะมีผลในทางบวกต่อตลาดหลักทรัพย์ในภาพรวม คือ ผลการประกอบการของธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มิใช่สถาบันการเงิน อาทิเช่น กลุ่มสื่อสาร กลุ่มวัสดุ ก่อสร้างและตกแต่ง กลุ่มกระดาษและเยื่อกระดาษ กลุ่มขนส่ง และกลุ่มพลังงาน
2.4 ภาวะตลาดเงินและปัญหาระบบสถาบันการเงิน
2.4.1 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการปรับโครงสร้างหนี้ ยอดปรับโครงสร้างหนี้แล้วเสร็จ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2543 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.285 ล้านล้านบาท จากยอดหนี้คงค้างทั้งสิ้น 2.276 ล้านล้านบาท ที่อยู่ภายใต้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินทั้งระบบภาคการเงิน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ได้ลดลงตามลำดับ โดยที่ NPLs ณ เดือนมีนาคม 2543 คิดเป็นร้อยละ 37.24 ของปริมาณสินเชื่อทั้งระบบ ลดลงจากร้อยละ 47 ในช่วงต้นปี 2542
2.4.2 การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มีแนวทาง ดังนี้
1) กำไรของธนาคารแห่งประเทศไทยภายหลังจากการรวบบัญชีจะนำส่งให้กองทุนฯ จำนวนประมาณ 130,000 ล้านบาท
2) ส่วนหนึ่งของกำไรของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะมีในอนาคต 3) รายได้จากการประมูลสินทรัพย์ของ 56 สถาบันการเงิน โดย ปรส.
4) จากการขายธนาคารที่รัฐเข้าไปแทรกแซง
5) หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน หากแต่เป็นความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จึงต้องเร่งบริหารสินทรัพย์ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ให้สามารถสร้างรายได้และเกิดความเสียหายน้อยที่สุด
2.4.3 การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การแก้ปัญหาสภาพคล่องของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เช่น การขยายความอนุเคราะห์ทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทางด้านภาคการค้าและบริการ และการรับจ้างทำของ จากเดิมที่ใช้เฉพาะภาคการผลิตเท่านั้น รวมทั้งการให้ความอนุเคราะห์ทางการเงินในรูปของเงินทุนหมุนเวียนแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ และได้ลงนามในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารมีลูกหนี้ที่ดีเพิ่มขึ้น
2.5 ภาระหนี้ของประเทศ
2.5.1 หนี้ภาครัฐ ณ สิ้นเดือนมีนาคมปี 2543 มีจำนวนประมาณ 3,260,110 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 65.12 ของ GDP ทั้งนี้การก่อหนี้สูงสุดได้แก่หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงจำนวน 983,235 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19.64 ของ GDP อันดับรองลงมาได้แก่ หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจำนวน 901,188 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกันจำนวน 897,557 ล้านบาท และหนี้ต่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 478,130 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.00 ร้อยละ 17.93 และร้อยละ 9.55 ของ GDP ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาด้านหนี้สาธารณะจะมียอดหนี้คงค้างประมาณ 2,781,980 ล้านบาท (ตามนิยามของกระทรวงการคลัง) และเป็นประมาณ 2,691.189 ล้านบาท (ตามนิยาม GFS) สำหรับยอดหนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2543 มีจำนวน 974,607 ล้านบาท
3. ภาคการผลิตและบริการ
3.1 ภาคการผลิตที่มีแนวโน้มฟื้นตัว
3.1.1 ภาคการเกษตร ปริมาณผลผลิตสาขาเกษตรในไตรมาสแรกขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสาขาพืชผล ในขณะที่ผลผลิตสาขาประมงลดลงอันเนื่องมาจากการยกเลิกสัมปทานการจับสัตว์น้ำในน่านน้ำของประเทศพม่า ประกอบกับต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปีที่แล้วตามภาวะราคาในตลาดโลกที่มีการแข่งขันสูงจากการที่มีอุปทานส่วนเกินอยู่มาก
สำหรับแนวโน้มในอนาคตทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลางนั้นค่อนข้างชัดเจนว่าการแข่งขันในตลาดสินค้าเกษตรจะเพิ่มมากขึ้น และตลาดสินค้าเกษตรเป็นตลาดผู้ซื้อ ราคาสินค้าเกษตรจึงยังไม่น่าจะปรับตัวดีขึ้น
3.1.2 ภาคอุตสาหกรรม ในไตรมาสแรกฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนโดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและภาคการส่งออก ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก 2542 อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราสูง ได้แก่ หมวดยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่งซึ่งดัชนีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 62.1 และอุตสาหกรรมต่อเนื่องประเภทผลิตภัณฑ์เหล็กเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1
ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นทั้งเพื่อการส่งออกและการใช้ภายในประเทศทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตปรับตัวดีขึ้นในทิศทางเดียวกัน โดยที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยของทุกอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 56.2 ในไตรมาสแรกปีที่แล้วเป็นร้อยละ 57.7 ในไตรมาสแรกปีนี้ แม้ว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตโดยเฉลี่ยรวมจะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ แต่เมื่อพิจารณาอัตราการใช้กำลังการผลิตในระดับรายอุตสาหกรรมย่อยจะพบว่า ในปัจจุบันมีหลายอุตสาหกรรมที่มีการผลิตจนเต็มกำลังการผลิตแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ เช่น ยางรถยนต์และแบตเตอรี่ อุตสาหกรรมแผงวงจรรวม คอมเพรสเซอร์ และผลิตภัณฑ์กระดาษและเยื่อกระดาษ
นอกจากนี้ ผลการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพบว่า มีบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงกว่าระดับเฉลี่ยของทั้งประเทศ และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยเฉลี่ยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2543 บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจากการสำรวจประมาณ 740 บริษัทมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ระดับร้อยละ 77.5 สูงกว่าระดับเฉลี่ยของประเทศ และสูงกว่าระดับร้อยละ 70.5 ในไตรมาสที่ 4 และร้อยละ 70.3 ในไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว โดยเกือบทุกอุตสาหกรรมมีการใช้อัตรากำลังการผลิตเพิ่มสูงขึ้น เช่นเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อการเกษตร (เพิ่มจากร้อยละ 29 เป็นร้อยละ 59) เครื่องยนต์เบนซินเอนกประสงค์ (เพิ่มจากร้อยละ73 เป็นร้อยละ 98) ปูนซิเมนต์ (เพิ่มจากร้อยละ 63 เป็นร้อยละ 83) และคอมเพรสเซอร์ (เพิ่มจากร้อยละ 67 เป็นร้อยละ85) เป็นต้น
3.1.3 ภาคธุรกิจบริการท่องเที่ยว สาขานี้มีปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ในไตรมาสแรกซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค และการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับที่น่าพอใจในทวีปอเมริกาและยุโรป
3.2 ภาคเศรษฐกิจที่ยังมีปัญหาเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
3.2.1 ภาคการเงิน มีความคืบหน้าด้านการปรับโครงสร้างหนี้ และ NPLs ได้ลดลงตามลำดับ โดยที่ NPLs ณ เดือนมีนาคม 2543 คิดเป็นร้อยละ 37.24 ของปริมาณสินเชื่อทั้งระบบ ลดลงจากร้อยละ 47 ในช่วงต้นปี 2542ส่วนยอดปรับโครงสร้างหนี้แล้วเสร็จ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2543 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.285 ล้านล้านบาท จากยอดหนี้คงค้างทั้งสิ้น 2.276 ล้านล้านบาท ที่อยู่ภายใต้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินทั้งระบบ
ทางด้านอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ดอกเบี้ยระหว่างธนาคารและในตลาดซื้อคืนพันธบัตรได้มีการปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยตามภาวะสภาพคล่องที่ค่อนข้างตึงตัวในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในไตรมาสแรก
3.2.2 ภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ในไตรมาสแรกเริ่มมีดัชนีชี้วัดสถานการณ์ของภาคการก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์บางตัวที่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2542 ได้แก่ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลทั้งเพื่อที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรมและอื่น ๆ การจำหน่ายสังกะสีในประเทศ ปริมาณการใช้ปูนซิเมนต์ในประเทศ การขอจดทะเบียนอาคารชุด บ้านจัดสรรจดทะเบียนเพิ่ม ในขณะที่เครื่องชี้บางตัวยังคงหดตัว อาทิเช่น ปริมาณการจำหน่ายเหล็กเส้น สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ทั้งสำหรับผู้ประกอบการและผู้บริโภค และแฟลต อาคารชุดและบ้านปลูกสร้างเองที่จดทะเบียนเพิ่ม คาดว่าสถานการณ์ของสาขาก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์น่าจะมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางดีขึ้น เมื่อพิจารณาจากดัชนีชี้นำที่สำคัญ คือ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ได้เริ่มมีการแข่งขันในการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหาเกี่ยวกับอุปทานส่วนเกินของอาคารชุดและตึกแถวคงจะยังเป็นปัญหาต่อไป
4. แนวทางการสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งในระยะต่อไป
ในขณะที่เครื่องชี้ทางด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ แสดงถึงแนวโน้มการฟื้นตัว แนวโน้มการขยายตัวในระยะต่อไปขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของอุปสงค์รวมภาคเอกชนภายในประเทศและการส่งออก ในขณะที่ภาระหนี้ภาครัฐอยู่ในระดับสูงทำให้มีข้อจำกัดด้านงบประมาณมากขึ้น ประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญคือ การดำเนินมาตรการที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวที่ยั่งยืน โดยต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทั้งในด้านการตลาดการผลิต และการบริหารจัดการซึ่งรวมถึงกฎระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนภาคเอกชน สร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจไทย และลดความอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอก
อย่างไรก็ตาม การปรับระบบเศรษฐกิจให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัตน์เศรษฐกิจจะต้องมีความสามารถในการพัฒนาบนพื้นฐานของข้อมูลและองค์ความรู้ (Information and Knowledge Based Economy) ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องสำคัญ การเสริมสร้างเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ต้องเร่งดำเนินการ ดังนี้
4.1 ด้านกฎหมายและกฎระเบียบ (Legal Infrastructure) กฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และพระราชบัญญัติลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องเร่งรัดกฎหมายอีก 4 ฉบับ ได้แก่ 1) กฎหมายลำดับรองของรัฐธรรมนูญ มาตรา 78 (เป็นการอุดช่องว่างระหว่างผู้ได้เปรียบจากการมีการใช้สารสนเทศ กับผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเกิดจากสาเหตุของความไม่ทั่วถึงทางภูมิศาสตร์ของระบบโทรศัพท์ ระบบโทรคมนาคม และการเข้าถึงข้อมูลระบบอินเตอร์เน็ต) 2) กฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ 3) กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ 4) กฎหมายเกี่ยวกับการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีและนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
4.2 ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Physical Infrastructure) ได้แก่การพิจารณาลดค่าโทรศัพท์ทางไกลจากต่างจังหวัดสำหรับการใช้อินเตอร์เน็ต การพัฒนาคุณภาพและความเร็วของระบบสื่อสาร ลดราคาเครื่องโทรศัพท์สื่อสารเคลื่อนที่ เพื่อกระตุ้นให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้นทั้งในเชิงธุรกิจและเชิงการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ชุดนายชวน หลีกภัย)--วันที่ 29 พฤษภาคม 2543--
-สส-