คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบร่างเอกสารแนวความคิดในกรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน จำนวน 10 ฉบับ และร่างปฏิญญาร่วมของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนด้านความร่วมมือเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและการมีส่วนร่วมกับโลก จำนวน 1 ฉบับ
2. มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือผู้แทนเป็นผู้รับรองร่างเอกสารแนวความคิดฯ และลงนามในร่างปฏิญญาร่วมฯ
ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงถ้อยคำหรือสาระสำคัญของร่างเอกสารแนวความคิดฯ และร่างปฏิญญาร่วมฯ ที่คณะรัฐมนตรีได้เคยอนุมัติหรือเห็นชอบไปแล้ว หากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบ ให้สามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลังพร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างเอกสารแนวความคิดฯ จำนวน 10 ฉบับ ได้แก่
1. เอกสารความร่วมมือในกรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน แผนปฏิบัติงาน 3 ปี พ.ศ. 2560-2562 [ADMM Three-Year Work Program (2017-2019)]
2. เอกสารแนวความคิดว่าด้วยความคิดริเริ่มของแผนงานที่มีในกรอบการประชุม ADMM และในกรอบการประชุม ADMM-Plus (Concept Paper on ADMM and ADMM-Plus Initiatives)
3. เอกสารแนวความคิดว่าด้วยการปฏิบัติสำหรับการปฏิสัมพันธ์ทางทะเล (Concept Paper on the Guidelines for Maritime Interaction)
4. เอกสารแนวความคิดว่าด้วยหลักการสำหรับการแลกเปลี่ยนการศึกษาและการฝึกในกรอบการประชุม ADMM (Principles for ADMM-wide Education and Training Exchanges)
5. เอกสารแนวความคิดว่าด้วยการปรับปรุงคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ในกรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น [Concept Paper on Streamlining ADMM-Plus Experts’ Working Groups (EWGs)]
6. เอกสารแนวความคิดว่าด้วยการจัดการประชุม ADMM-Plus เป็นประจำทุกปี (Concept Paper on the Annualisation of the ADMM-Plus)
7. แนวทางการตอบสนองต่อคำขอจากประเทศคู่เจรจาสำหรับการจัดการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจาเป็นรายประเทศอย่างไม่เป็นทางการ (Guidelines Regarding the Conduct of ADMM’s Informal Engagements or Meetings with Plus Countries)
8. พิธีสารที่ 2 ของเอกสารแนวความคิดด้านพิธีการของการประชุม ADMM และ ADMM-Plus (2nd Protocol to the Concept Papers on the Establishment of ADMM and ADMM-Plus)
9. เอกสารแนวความคิดว่าด้วยการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการประชุม ADMM และเครือข่ายสถาบันความมั่นคงและการป้องกันประเทศอาเซียน [Concept Paper on Enhancing the Linkages between ADMM and the Network of ASEAN Defence and Security Institutions (NADI)]
10. เอกสารแนวความคิดว่าด้วยแนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์อากาศยานทหารบินเผชิญหน้ากัน (Concept Paper : Guidelines on Air Encounters between Military Aircraft)
ร่างปฏิญญาร่วมของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนด้านความร่วมมือเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและการมีส่วนร่วมกับโลก (Joint Declaration of the ASEAN Defence Ministers on Partnering for Change, Engaging the World) ได้เน้นย้ำในเรื่องสำคัญต่าง ๆ เช่น
1. สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2. ความรับผิดชอบของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้
3. ความร่วมมือด้านโลจิสติกส์และเพิ่มประสิทธิภาพในปฏิบัติการความร่วมมือพหุภาคีด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ และการต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัด ภายใต้กรอบการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงร่วมในกรอบอาเซียน
4. การสนับสนุนการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรของหน่วยงานด้านความมั่นคงประเทศสมาชิกอาเซียน ผ่านทางโครงการปฏิสัมพันธ์ทางทหารระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน
5. การแลกเปลี่ยนการฝึกและศึกษาระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงและการทหาร เพื่อเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรและสมรรถนะโดยรวมของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อการเผชิญหน้ากับความ ท้าทายด้านความมั่นคงต่าง ๆ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 ตุลาคม 2560--