เอกสารสำคัญที่จะมีการรับรองในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 25 และการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 29

ข่าวการเมือง Tuesday November 7, 2017 18:19 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 25 และอนุมัติให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนรับรองเอกสารดังกล่าว ซึ่งการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 11 พฤศจิกายน 2560 ณ นครดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

2. ให้ความเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 29 และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนร่วมรับรองเอกสารดังกล่าว ซึ่งการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 29 จะจัดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 ณ นครนาดัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

3. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารข้างต้นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ กต. และกระทรวงพาณิชย์สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

สาระสำคัญของร่างเอกสารฯ ทั้ง 2 ฉบับ มีดังนี้

1. ร่างปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 25 (ปฏิญญาดานัง) เป็นเอกสารที่แสดงถึงความมุ่งมั่นและปฏิญาณของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคภายใต้ “การสร้างพลวัตใหม่และการส่งเสริมการพัฒนาไปสู่อนาคตร่วมกัน”ได้แก่

(1) การส่งเสริมการเติบโตอย่างมีนวัตกรรมและการจ้างงานที่ครอบคลุมและยั่งยืน

(2) การสร้างแรงขับเคลื่อนใหม่เพื่อผลักดันการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

(3) การส่งเสริมขีดความสามารถและนวัตกรรมของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย

(4) การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรอย่างยั่งยืนเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

(5) การส่งเสริมอนาคตร่วมกัน

ทั้งนี้ ร่างปฏิญญาดังกล่าวประกอบด้วยเอกสารภาคผนวก จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ภาคผนวก A - ภาคผนวก D เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการสู่การบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ดังนี้

ภาคผนวก A: วาระการดำเนินการเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การเงิน และสังคมในภูมิภาคเอเปค

ภาคผนวก B: กรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัล

ภาคผนวก C: ยุทธศาสตร์เอเปคว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises : MEMEs) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืนและมีนวัตกรรม (ริเริ่มโดยประเทศไทยและสาธารณรัฐเปรู)

ภาคผนวก D:ข้อริเริ่มเอเปคในการส่งเสริมสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรม

2. ร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 29 เป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 29 เพื่อสรุปความก้าวหน้าในการดำเนินการต่าง ๆ ของเอเปค

(1) การส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

(2) การส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืน มีนวัตกรรมและครอบคลุม

(3) การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรมของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs)

(4) การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและเกษตรกรรมที่ยั่งยืนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

(5) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (Economic and Technical Cooperation : ECOTECH) และผลลัพธ์ด้านต่าง ๆ

(6) การมองไปข้างหน้า

ทั้งนี้ ร่างถ้อยแถลงร่วมดังกล่าวจะมีเอกสารภาคผนวกประกอบด้วย 5 ฉบับ ได้แก่ ภาคผนวก A – ภาคผนวก E เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการ ได้แก่

ภาคผนวก A: การดำเนินการของเอเปคเพื่อไปสู่ปี 2563 (ค.ศ. 2020) และอนาคต

ภาคผนวก B: กรอบความร่วมมือเอเปคว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน

ภาคผนวก C: แผนปฏิบัติการสำหรับกรอบการทำงานของโครงการเอเปคแบบหลายปีต่อเนื่องด้านความมั่นคงอาหารและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี 2561 - 2563

ภาคผนวก D: แผนปฏิบัติการสำหรับกรอบยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาชนบท-เขตเมืองเพื่อสร้างเสริมความมั่นคงอาหารและการเติบโตอย่างมีคุณภาพ

ภาคผนวก E: แนวปฏิบัติที่ดีเลิศของเอเปคสำหรับส่งเสริมอุตสาหกรรมสนับสนุน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ