ทำเนียบรัฐบาล--20 มิ.ย.--นิวส์สแตนด์
คณะรัฐมนตรีรับทราบการพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายการดำเนินการเกี่ยวกับสินทรัพย์บริจาคของพระธรรมวิสุทธิมงคล ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีหนังสือขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมาย ดังนี้
1. ธปท. จะนำเงินบริจาคเข้าบัญชีทุนสำรองเงินตรา บัญชีผลประโยชน์ประจำปี และหรือบัญชีสำรองพิเศษและแยกออกไว้ต่างหาก โดยใช้อำนาจตามกฎหมายปัจจุบันได้หรือไม่
2. ธปท. จะกันเงินบริจาคและดอกผลไว้ต่างหากจากสินทรัพย์ที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อทำความตกลงร่วมกับกระทรวงการคลังได้หรือไม่
3. คณะกรรมการ ธปท. มีอำนาจกำหนดว่าสินทรัพย์และหนี้สินที่เกิดจากการรวมบัญชีจะนำไปไว้ในบัญชีใด จำนวนเท่าใดได้หรือไม่
บัดนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว มีความเห็นดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่า "ตามกฎหมายปัจจุบันการรับและจ่ายสินทรัพย์ในบัญชีทุนสำรองเงินตรามีความสัมพันธ์กับการนำออกใช้ซึ่งธนบัตร การนำสินทรัพย์เข้าบัญชีทุนสำรองเงินตราโดยไม่มีการออกใช้ธนบัตรย่อมไม่อาจกระทำได้" ดังนั้น การนำสินทรัพย์บริจาคของพระธรรมวิสุทธิมงคลเข้าบัญชีทุนสำรองเงินตรา จึงต้องกระทำในขณะที่มีการออกใช้ธนบัตรเท่านั้น โดยนำเข้าในจำนวนเท่ากับที่ต้องการนำธนบัตรออกใช้ สำหรับการที่ประสงค์จะแยกสินทรัพย์ดังกล่าวไว้ต่างหากจากสินทรัพย์อื่นนั้น เห็นว่าในทางปฏิบัติสามารถกระทำได้
ประเด็นที่สอง สินทรัพย์ที่ ธปท. และกระทรวงการคลังจะต้องทำความตกลงร่วมกันคือ สินทรัพย์ในบัญชีทุนสำรองเงินตรา บัญชีผลประโยชน์ประจำปี และบัญชีสำรองพิเศษ โดยในส่วนของบัญชีทุนสำรองเงินตราจะต้องโอนมาให้ ธปท. เพื่อดำรงไว้เพื่อการนำธนบัตรออกใช้ตามมาตรา 43 ดังนั้น เมื่อ ธปท. ได้นำสินเทรัพย์บริจาคของพระธรรมวิสุทธิมงคลเข้าบัญชีทุนสำรองเงินตราเพื่อหนุนหลังธนบัตรออกใช้แล้ว สินทรัพย์ส่วนนี้ ธปท. และกระทรวงการคลังจึงต้องนำส่งให้ ธปท. ใช้หนุนหลังธนบัตรออกใช้อยู่เช่นเดิม ส่วนดอกผลของสินทรัพย์ดังกล่าว ธปท. และกระทรวงการคลังก็ชอบที่จะตกลงร่วมกัน โดยให้ ธปท. เก็บรักษาไว้ตามเจตนารมณ์ของพระธรรมวิสุทธิมงคลต่อไปได้
ประเด็นที่ 3 ตามร่างมาตรา 4 แห่งร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 15 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 กำหนดให้อำนาจคณะกรรมการ ธปท. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการบัญชีของ ธปท. ได้ ดังนั้น เมื่อสินทรัพย์ที่เกิดจากการรวมบัญชีได้โอนมาเป็นสินทรัพย์ของ ธปท. แล้ว หากคณะกรรมการ ธปท. ประสงค์จะกำหนดให้สินทรัพย์ดังกล่าวนำไปไว้ในบัญชีใด จำนวนเท่าใด ย่อมสามารถกระทำได้
ในการนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) มีข้อสังเกตว่า การนำสินทรัพย์บริจาคของพระธรรมวิสุทธิมงคลเข้าในบัญชีทุนสำรองเงินตราจะต้องมีการนำธนบัตรออกใช้ด้วยจำนวนที่เท่ากัน ดังนั้น ธปท. จึงควรต้องพิเคราะห์ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการสมเจตนารมณ์ที่แท้จริงของพระธรรมวิสุทธิมงคลหรือไม่
อนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีข้อสังเกตเพื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิเคราะห์ว่า การนำสินทรัพย์บริจาคที่พระธรรมวิสุทธิมงคลมอบให้เข้าไว้ในบัญชีทุนสำรองเงินตราจะเป็นการเหมาะสมและสมเจตนารมณ์แท้จริงของผู้มอบให้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากทุนสำรองเงินตรามีขึ้นเพื่อใช้ในวิถีทางปกติของการพิมพ์ธนบัตรออกใช้ โดยกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการนำทุนสำรองทางการ (สินทรัพย์ที่มั่นคง) เข้าสู่บัญชีทุนสำรองเงินตราในมูลค่าเท่ากันอันเป็นวิธีการหนึ่งในการรักษาเสถียรภาพของธนบัตร แต่การดำเนินการของ ธปท. ตามกรณีนี้เป็นวิธีการที่สวนทางกับวิถีทางปกติโดยมุงที่จะนำสินทรัพย์ดังกล่าวเข้าไว้ในบัญชีทุนสำรองเงินตราเป็นหลัก แม้โดยข้อกฎหมายมีความเป็นไปได้และโดยสภาพทางกายภาพสินทรัพย์นั้นจะมีอยู่จริงในบัญชีนั้นก็ตาม แต่ในการนำสินทรัพย์เข้าบัญชีทุนสำรองเงินตรา กฎหมายกำหนดให้กระทำเมื่อมีการออกใช้ธนบัตรจำนวนหนึ่งในมูลค่าที่เท่ากัน ผลจึงกลับกลายเป็นว่าแทนที่จะเป็นการนำสินทรัพย์ที่พระธรรมวิสุทธิมงคลมอบให้เพื่อสนับสนุนความมั่นคงของคลังหลวง กลับเป็นการนำสินทรัพย์นั้นไปเป็นฐานเพื่อพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเติมออกมาใช้ อันมีผลเสมือนหนึ่งเป็นการนำสินทรัพย์ที่พระธรรมวิสุทธิมงคลมอบให้มาแปลงสภาพเป็นธนบัตรโดยตรง และนำมาใช้จ่ายในตลาดการเงินทั่วไปนั่นเอง เพราะสินทรัพย์จำนวนดังกล่าวจะกลายเป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามกฎหมายสำหรับธนบัตรที่พิมพ์เพิ่มเติมออกใช้ดังกล่าว กรณีจึงเป็นที่น่าพิจารณาว่าเจตนาดั้งเดิมของผู้บริจาคสินทรัพย์จำนวนนี้ คงจะต้องการทำให้ภาวะการคลังของประเทศเข้มแข็งขึ้น โดยมีทุนสนับสนุนเสถียรภาพเงินตราเพิ่มขึ้น เพราะเข้าใจว่าคลังหลวงของประเทศบอบบางลง แต่วิธีการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะดำเนินการมิใช่เป็นการเพิ่มเสถียรภาพของเงินตามที่มีอยู่แล้ว หากแต่เป็นการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นใหม่ ดังนั้น วิธีการใส่สินทรัพย์นี้ลงในบัญชีทุนสำรองเงินตรา แม้ว่าจะทำได้ตามกฎหมายทุกครั้งที่พิมพ์ธนบัตรออกใช้ก็ตาม แต่จะเหมาะสมและสอดคล้องกับเจตนาของผู้ยกให้ตามหนังสือฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นหนังสือกำหนดผลทางกฎหมายหรือไม่ จึงสมควรต้องพิเคราะห์ให้รอบคอบ กรณีแตกต่างไปจาการคงสินทรัพย์ดังกล่าวไว้ในฝ่ายกิจการธนาคาร ซึ่งเป็นการเพิ่มความมั่นคงให้กับการคลังของประเทศโดยตรง โดยไม่ต้องพิมพ์ธนบัตรออกใช้เพิ่มเติม และอาจจัดเป็นบัญชีเฉพาะเพื่อการนี้โดยตรงมิให้ปะปนกับสินทรัพย์อื่นของธนาคารได้ด้วย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ชุดนายชวน หลีกภัย)--วันที่ 20 มิ.ย. 2543--
-สส-
คณะรัฐมนตรีรับทราบการพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายการดำเนินการเกี่ยวกับสินทรัพย์บริจาคของพระธรรมวิสุทธิมงคล ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีหนังสือขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมาย ดังนี้
1. ธปท. จะนำเงินบริจาคเข้าบัญชีทุนสำรองเงินตรา บัญชีผลประโยชน์ประจำปี และหรือบัญชีสำรองพิเศษและแยกออกไว้ต่างหาก โดยใช้อำนาจตามกฎหมายปัจจุบันได้หรือไม่
2. ธปท. จะกันเงินบริจาคและดอกผลไว้ต่างหากจากสินทรัพย์ที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อทำความตกลงร่วมกับกระทรวงการคลังได้หรือไม่
3. คณะกรรมการ ธปท. มีอำนาจกำหนดว่าสินทรัพย์และหนี้สินที่เกิดจากการรวมบัญชีจะนำไปไว้ในบัญชีใด จำนวนเท่าใดได้หรือไม่
บัดนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว มีความเห็นดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่า "ตามกฎหมายปัจจุบันการรับและจ่ายสินทรัพย์ในบัญชีทุนสำรองเงินตรามีความสัมพันธ์กับการนำออกใช้ซึ่งธนบัตร การนำสินทรัพย์เข้าบัญชีทุนสำรองเงินตราโดยไม่มีการออกใช้ธนบัตรย่อมไม่อาจกระทำได้" ดังนั้น การนำสินทรัพย์บริจาคของพระธรรมวิสุทธิมงคลเข้าบัญชีทุนสำรองเงินตรา จึงต้องกระทำในขณะที่มีการออกใช้ธนบัตรเท่านั้น โดยนำเข้าในจำนวนเท่ากับที่ต้องการนำธนบัตรออกใช้ สำหรับการที่ประสงค์จะแยกสินทรัพย์ดังกล่าวไว้ต่างหากจากสินทรัพย์อื่นนั้น เห็นว่าในทางปฏิบัติสามารถกระทำได้
ประเด็นที่สอง สินทรัพย์ที่ ธปท. และกระทรวงการคลังจะต้องทำความตกลงร่วมกันคือ สินทรัพย์ในบัญชีทุนสำรองเงินตรา บัญชีผลประโยชน์ประจำปี และบัญชีสำรองพิเศษ โดยในส่วนของบัญชีทุนสำรองเงินตราจะต้องโอนมาให้ ธปท. เพื่อดำรงไว้เพื่อการนำธนบัตรออกใช้ตามมาตรา 43 ดังนั้น เมื่อ ธปท. ได้นำสินเทรัพย์บริจาคของพระธรรมวิสุทธิมงคลเข้าบัญชีทุนสำรองเงินตราเพื่อหนุนหลังธนบัตรออกใช้แล้ว สินทรัพย์ส่วนนี้ ธปท. และกระทรวงการคลังจึงต้องนำส่งให้ ธปท. ใช้หนุนหลังธนบัตรออกใช้อยู่เช่นเดิม ส่วนดอกผลของสินทรัพย์ดังกล่าว ธปท. และกระทรวงการคลังก็ชอบที่จะตกลงร่วมกัน โดยให้ ธปท. เก็บรักษาไว้ตามเจตนารมณ์ของพระธรรมวิสุทธิมงคลต่อไปได้
ประเด็นที่ 3 ตามร่างมาตรา 4 แห่งร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 15 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 กำหนดให้อำนาจคณะกรรมการ ธปท. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการบัญชีของ ธปท. ได้ ดังนั้น เมื่อสินทรัพย์ที่เกิดจากการรวมบัญชีได้โอนมาเป็นสินทรัพย์ของ ธปท. แล้ว หากคณะกรรมการ ธปท. ประสงค์จะกำหนดให้สินทรัพย์ดังกล่าวนำไปไว้ในบัญชีใด จำนวนเท่าใด ย่อมสามารถกระทำได้
ในการนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) มีข้อสังเกตว่า การนำสินทรัพย์บริจาคของพระธรรมวิสุทธิมงคลเข้าในบัญชีทุนสำรองเงินตราจะต้องมีการนำธนบัตรออกใช้ด้วยจำนวนที่เท่ากัน ดังนั้น ธปท. จึงควรต้องพิเคราะห์ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการสมเจตนารมณ์ที่แท้จริงของพระธรรมวิสุทธิมงคลหรือไม่
อนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีข้อสังเกตเพื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิเคราะห์ว่า การนำสินทรัพย์บริจาคที่พระธรรมวิสุทธิมงคลมอบให้เข้าไว้ในบัญชีทุนสำรองเงินตราจะเป็นการเหมาะสมและสมเจตนารมณ์แท้จริงของผู้มอบให้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากทุนสำรองเงินตรามีขึ้นเพื่อใช้ในวิถีทางปกติของการพิมพ์ธนบัตรออกใช้ โดยกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการนำทุนสำรองทางการ (สินทรัพย์ที่มั่นคง) เข้าสู่บัญชีทุนสำรองเงินตราในมูลค่าเท่ากันอันเป็นวิธีการหนึ่งในการรักษาเสถียรภาพของธนบัตร แต่การดำเนินการของ ธปท. ตามกรณีนี้เป็นวิธีการที่สวนทางกับวิถีทางปกติโดยมุงที่จะนำสินทรัพย์ดังกล่าวเข้าไว้ในบัญชีทุนสำรองเงินตราเป็นหลัก แม้โดยข้อกฎหมายมีความเป็นไปได้และโดยสภาพทางกายภาพสินทรัพย์นั้นจะมีอยู่จริงในบัญชีนั้นก็ตาม แต่ในการนำสินทรัพย์เข้าบัญชีทุนสำรองเงินตรา กฎหมายกำหนดให้กระทำเมื่อมีการออกใช้ธนบัตรจำนวนหนึ่งในมูลค่าที่เท่ากัน ผลจึงกลับกลายเป็นว่าแทนที่จะเป็นการนำสินทรัพย์ที่พระธรรมวิสุทธิมงคลมอบให้เพื่อสนับสนุนความมั่นคงของคลังหลวง กลับเป็นการนำสินทรัพย์นั้นไปเป็นฐานเพื่อพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเติมออกมาใช้ อันมีผลเสมือนหนึ่งเป็นการนำสินทรัพย์ที่พระธรรมวิสุทธิมงคลมอบให้มาแปลงสภาพเป็นธนบัตรโดยตรง และนำมาใช้จ่ายในตลาดการเงินทั่วไปนั่นเอง เพราะสินทรัพย์จำนวนดังกล่าวจะกลายเป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามกฎหมายสำหรับธนบัตรที่พิมพ์เพิ่มเติมออกใช้ดังกล่าว กรณีจึงเป็นที่น่าพิจารณาว่าเจตนาดั้งเดิมของผู้บริจาคสินทรัพย์จำนวนนี้ คงจะต้องการทำให้ภาวะการคลังของประเทศเข้มแข็งขึ้น โดยมีทุนสนับสนุนเสถียรภาพเงินตราเพิ่มขึ้น เพราะเข้าใจว่าคลังหลวงของประเทศบอบบางลง แต่วิธีการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะดำเนินการมิใช่เป็นการเพิ่มเสถียรภาพของเงินตามที่มีอยู่แล้ว หากแต่เป็นการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นใหม่ ดังนั้น วิธีการใส่สินทรัพย์นี้ลงในบัญชีทุนสำรองเงินตรา แม้ว่าจะทำได้ตามกฎหมายทุกครั้งที่พิมพ์ธนบัตรออกใช้ก็ตาม แต่จะเหมาะสมและสอดคล้องกับเจตนาของผู้ยกให้ตามหนังสือฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นหนังสือกำหนดผลทางกฎหมายหรือไม่ จึงสมควรต้องพิเคราะห์ให้รอบคอบ กรณีแตกต่างไปจาการคงสินทรัพย์ดังกล่าวไว้ในฝ่ายกิจการธนาคาร ซึ่งเป็นการเพิ่มความมั่นคงให้กับการคลังของประเทศโดยตรง โดยไม่ต้องพิมพ์ธนบัตรออกใช้เพิ่มเติม และอาจจัดเป็นบัญชีเฉพาะเพื่อการนี้โดยตรงมิให้ปะปนกับสินทรัพย์อื่นของธนาคารได้ด้วย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ชุดนายชวน หลีกภัย)--วันที่ 20 มิ.ย. 2543--
-สส-