มาตรการด้านการเงินสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้

ข่าวการเมือง Tuesday November 28, 2017 16:37 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบมาตรการด้านการเงินสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. ขยายระยะเวลาโครงการรวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอนุมัติงบประมาณชดเชยไม่เกิน 2,837.50 ล้านบาท โดยให้ธนาคารออมสินทำความตกลงในการเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวตามภาระที่เกิดขึ้นจริงกับสำนักงบประมาณ (สงป.) ต่อไป ทั้งนี้ ให้สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการมีความเข้มงวดในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ โดยต้องเป็นผู้ประกอบการที่มีสถานประกอบการและมีการดำเนินธุรกิจในพื้นที่อย่างแท้จริง รวมถึงขอความร่วมมือให้ สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการเร่งดำเนินการอนุมัตคำขอสินเชื่อที่ยังค้างอยู่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

2. ขยายเวลามาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)และอนุมัติงบประมาณชดเชยไม่เกิน 673.2 ล้านบาท ซึ่งเป็นการชดเชยตามหลักการเดิม โดยให้ ธ.ก.ส. ทำความ ตกลงกับ สงป. เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมารตามความเหมาะสมและความจำเป็นต่อไป

3. ขยายระยะเวลาและปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยก่อการร้ายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอนุมัติงบประมาณชดเชยไม่เกิน 90 ล้านบาท โดยให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นหน่วยงานจัดสรรงบประมาณและทำความตกลงกับ สงป. เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณตามความเหมาะสมและความจำเป็นต่อไป

4. เห็นชอบโครงการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อมุสลิม และอนุมัติงบประมาณชดเชยไม่เกิน 200 ล้านบาท โดยให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ทำความตกลงในการเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวตามภาระที่เกิดขึ้นจริงกับ สงป. ต่อไป

5. รับทราบโครงการสินเชื่อบ้านมุสลิมชายแดนใต้ของ ธอท. และโครงการสินเชื่อสำหรับ จังหวัดชายแดนภาคใต้ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ทั้งนี้ ให้ กค. ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ของมาตรการและรายงานผลต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้เพื่อทราบเป็นระยะ ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาปรับปรุงแนวทาง/มาตรการในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. การขยายระยะเวลาโครงการฯ พร้อมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขบางประการระยะเวลา 1 มกราคม 2561 – 31 ธันวาคม 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระดอกเบี้ยยอดสินเชื่อคงค้างและเพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนการฟื้นฟูกิจการของการกู้ยืมเงินประเภทวงเงินหมุนเวียนแบบมีกำหนดระยะเวลาเป็นลำดับแรก และสามารถให้เป็นสินเชื่อระยะยาว (L/T) เพื่อวัตถุประสงค์ในการลงทุนขยายกิจการได้

2. โครงการพักชำระหนี้ลูกค้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ธ.ก.ส. กลุ่มเป้าหมาย ลูกค้าธ.ก.ส. ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะเวลา 1 มกราคม 2561 ถึง 31 ธันวาคม 2563 (3 ปี)

3. โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยก่อการร้ายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะเวลาโครงการ 1 มกราคม 2561 – 31 ธันวาคม 2563 โดยรัฐสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยส่วนต่างระหว่างร้อยละ 0.3 ถึงร้อยละ 3 ให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ สำหรับการประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองภัยก่อการร้ายในปัจจุบัน และสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุของพนักงานที่สถานประกอบการทำประกันภัยให้ โดยชดเชยในอัตราร้อยละ 50 ของค่าเบี้ยประกันภัย เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ให้แก่ผู้ประกอบการและพนักงานในพื้นที่

4. โครงการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อมุสลิมและโครงการสินเชื่อบ้านมุสลิมชายแดนใต้ของ ธอท. ดังนี้

4.1 โครงการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อมุสลิม มีวัตถุประสงค์ ให้สินเชื่อแก่มุสลิมที่มีรายได้น้อยซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนภายในครอบครัว โดยต้องไม่เป็นการ Refinance หนี้ในระบบ

กลุ่มเป้าหมาย บุคคลธรรมดานับถือศาสนาอิสลามที่มีรายได้น้อยที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน

เงื่อนไขการพิจารณาสินเชื่อ พิจารณาความสามารถในการชำระหนี้จากรายได้และค่าใช้จ่ายรวมของบุคคลในครอบครัวเป็นหลัก โดยสามารถตรวจสอบประวัติการชำระหนี้จากเครดิตบูโรได้ และสามารถให้สินเชื่อกับผู้ที่มีประวัติค้างชำระหนี้ หรือมีประวัติเป็น NPF หรือมีการปรับโครงสร้างพนี้ แต่ปัจจุบันชำระหนี้เป็นปกติแล้ว

การชดเชยจากรัฐบาล ขอรับการชดเชยความเสียหายจากรัฐบาลสำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Finanching : NPF) ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการฯ ไม่เกินร้อยละ 40 ของสินเชื่ออนุมัติคิดเป็นจำนวนเงินชดเชยสูงสุดไม่เกิน 200 ล้านบาท โดยให้ ธอท. ทำความตกลงกับ สงป. เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีตามความเหมาะสมและความจำเป็นต่อไป

4.2 โครงการสินเชื่อบ้านมุสลิมชายแดนใต้ โดยให้สินเชื่อแก่มุสลิมที่ต้องการจัดหาหรือซ่อมแซมและต่อเติ่มที่อยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ในอัตรากำไรที่ผ่อนปรน โดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไข เป็นไปตามที่ ธอท. กำหนด

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการทั้ง 2 โครงการ ให้ ธอท. แยกบัญชีเป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาล (Public Service : PSA) และลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับลูกค้าของโครงการในลักษณะเดียวกันกับที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น ๆ ดำเนินการ

5. โครงการสินเชื่อสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ธอส. ประกอบด้วย 3 โครงการ โดยธอส. ไม่ขอรับการชดเชยจากรัฐบาล ดังนี้

1. โครงการสินเชื่อที่อาศัยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

2. โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

3. โครงการบ้าน ธอส. เพื่อสานรัก ปี 2560

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 พฤศจิกายน 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ