ทิศทางการพัฒนาภาคใต้และภาคใต้ชายแดน ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)

ข่าวการเมือง Tuesday November 28, 2017 16:46 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบทิศทางการพัฒนาภาคใต้และภาคใต้ชายแดน ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้

1. ทิศทางการพัฒนาภาคใต้

1.1 ภาพรวม ภาคใต้มีพื้นที่ร้อยละ 11.7 ของประเทศ และมีประชากรร้อยละ 11.1 ของประเทศ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจร้อยละ 7.9 ของประเทศ เป็นภาคที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่หลากหลายโดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเล เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีระบบนิเวศชายฝั่งที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติและเหมาะสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง รวมทั้งเป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ภาคใต้มีความได้เปรียบด้านสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้เส้นทางการค้าโลก สามารถเชื่อมโยงการพัฒนากับพื้นที่ภาคอื่น ๆ ของประเทศ รวมทั้งภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวยังกระจุกตัวในพื้นที่ชายฝั่งทะเล โดยแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของพื้นที่ตอนในยังไม่เป็นที่รู้จัก และมีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงมากขึ้น การผลิตทางการเกษตรยังเป็นแบบดั้งเดิม รวมทั้งการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะโครงข่ายถนน 4 ช่องจราจร

1.2 ปัญหาและประเด็นท้าทาย ภาคใต้มีปัญหาทรัพยากรประมงเสื่อมโทรม ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงและอุทกภัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวกระจุกตัวอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวหมู่เกาะและชายหาดหลัก ทำให้เกินขีดความสามารถในการรองรับ โดยแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลที่มีศักยภาพหลายแห่งยังไม่เป็นที่รู้จักของตลาดการท่องเที่ยวระดับโลก และยังขาดการพัฒนาเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวพื้นที่ตอนในและแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนของภาค รวมทั้งพืชเศรษฐกิจ (ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล) ยังมีการผลิตแบบดั้งเดิม มีการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มน้อย

1.3 ศักยภาพและโอกาส ภาคใต้มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ ภูเก็ต กระบี่ พีพี สมุย และพะงัน โดยชายหาดและหมู่เกาะตอนบนของภาคสามารถเชื่อมโยงกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเขตฝั่งทะเลตะวันตก (The Royal Coast) ของภาคกลาง มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ สวยงาม และหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ เขื่อนรัชชประภา อุทยานแห่งชาติเขาหลวง และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และอารยธรรม อาทิ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และพระบรมธาตุไชยา นอกจากนั้น ภาคใต้เป็นแหล่งปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้เมืองร้อน บริเวณปากแม่น้ำเหมาะสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง และบริเวณลุ่มน้ำปากพนังและทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญของภาค พื้นที่ตอนล่างของภาคใต้เป็นที่ตั้งของเมืองยาง (Rubber City) อุตสาหกรรมแปรรูปยางและเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รวมทั้ง ที่ตั้งของภาคใต้มีความได้เปรียบในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงการค้าภายในและภายนอกภูมิภาค

1.4 แนวคิดและทิศทาง ภาคใต้มีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงระดับโลก และแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสามารถสร้างรายได้ให้กับภาคทั้งพื้นที่ตอนในและชายฝั่งทะเลทั้งสองด้าน รวมทั้งมีระบบนิเวศชายฝั่งที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติและเหมาะกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ในขณะที่การผลิตภาคเกษตร ได้แก่ ยางพาราและปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นแหล่งผลิตและแปรรูปที่สำคัญของประเทศยังเป็นแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ ภาคใต้มีความได้เปรียบด้านสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้เส้นทางการค้าโลก สามารถเชื่อมโยงการพัฒนากับพื้นที่ภาคอื่น ๆ ของประเทศ รวมทั้งภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออก ดังนั้น การพัฒนาภาคใต้ควรพัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นมาตรฐานสากลเพื่อรักษาความมีชื่อเสียงของแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก พร้อมกับพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพให้เป็นที่รู้จัก ในระดับนานาชาติ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตและแปรรูปภาคเกษตรควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพัฒนาการเชื่อมโยงการค้า การลงทุนกับภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก

1.4.1 วัตถุประสงค์

(1) เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวของภาคให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของโลก

(2) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมันแห่งใหม่ของภาคและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

(3) เพื่อพัฒนาสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

(4) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการท่องเที่ยว การพัฒนาเขตอุตสาหกรรม และการเชื่อมโยงการค้าโลก

1.4.2 เป้าหมายและตัวชี้วัด

(1) ผลิตภัณฑ์ภาคต่อหัวเพิ่มขึ้น

(2) การกระจายรายได้มากขึ้น

(3) รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

(4) มีแหล่งท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานและเป็นที่รู้จักในระดับสากลเพิ่มขึ้น

(5) ผลผลิตทางการเกษตรมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

(6) มีโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการท่องเที่ยว การพัฒนาเขตอุตสาหกรรมและการเชื่อมโยงการค้าโลก

1.5 แนวทางการพัฒนา ประกอบด้วย

1.5.1 พัฒนาการท่องเที่ยวของภาคใต้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของโลก โดยการยกระดับคุณภาพบริการและส่งเสริมธุรกิจต่อเนื่องในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของภาค พัฒนาและสนับสนุนรูปแบบการท่องเที่ยวเรือสำราญ และการท่องเที่ยวเชิงอาหาร พัฒนาเมืองท่องเที่ยวหลัก (ภูเก็ต) ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และมีระบบขนส่งมวลชน (Monorail) พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบนบกบริเวณตอนในและแหล่งท่องเที่ยวชายหาดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำแห่งใหม่ พัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวให้มีความหลากหลาย อาทิ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและสปา การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงผจญภัย และการท่องเที่ยวเชิงกีฬา และส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน

1.5.2 พัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมันแห่งใหม่ของประเทศ โดยการพัฒนาเขตพื้นที่อุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราหาดใหญ่-สะเดา ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเชื่อมโยงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและนิคมอุตสาหกรรมยาง (Rubber City) ให้เป็นฐานเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน พัฒนาเขตอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีแบบครบวงจรในจังหวัดกระบี่ จังหวัดสุราษฎร์ธานีและชุมพร จัดตั้งศูนย์กลางการผลิตไบโอดีเซลในจังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร และพัฒนาและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีชีวภาพและนวัตกรรมการผลิตภาคเกษตร

1.5.3 พัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรหลักของภาค โดยส่งเสริมการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตและบริหารจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบ ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอัตลักษณ์และเหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ของภาค เช่น ข้าว ไม้ผล และปศุสัตว์ ให้เป็นสินค้ามูลค่าสูงและได้มาตรฐานส่งออก และยกระดับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งและสัตว์น้ำชายฝั่งให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และได้มาตรฐานสุขอนามัยและเป็นไปตามกฎกติกาสากล

1.5.4 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการท่องเที่ยว การพัฒนาเขตอุตสาหกรรม และการเชื่อมโยงการค้าโลก โดยการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำแห่งใหม่กับแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง เช่น พัฒนาถนนเลียบชายฝั่งทะเลอ่าวไทยสายชุมพร-สุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช-สงขลา เชื่อมโยงกับสาย The Royal Coast ของภาคกลาง พัฒนาเส้นทางรถไฟเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชื่อมโยงฝั่งอันดามันและอ่าวไทย และพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงพื้นที่ตอนเหนือ-ใต้ของฝั่งอันดามัน เป็นต้น พัฒนาและสนับสนุนท่าเรือสำราญในจังหวัดภูเก็ต ให้เป็นท่าเรือที่สำคัญหลักของโลก พัฒนาท่าเรือแวะพัก และท่าเรือมารีน่า ให้มีมาตรฐานในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีศักยภาพของภาค (กระบี่ พังงา สมุย) พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมแปรรูปยางหาดใหญ่-สะเดา อาทิ เร่งการพัฒนาโครงข่ายรถไฟ พัฒนาศูนย์กระจายสินค้าทุ่งสง พัฒนาท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงภาคใต้กับเส้นทางการค้าโลก อาทิ พัฒนาท่าเรือชายฝั่งอันดามัน สนามบินภูเก็ต และโครงข่ายรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือสงขลา 2-หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์-บัตเตอร์เวอร์ธ (มาเลเซีย)

1.6 แผนงานและโครงการ กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอแผนงาน/โครงการเบื้องต้นในการขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาภาคใต้ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) สรุปได้ ดังนี้

1.6.1 การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำของโลก โดยพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวให้มีความหลากหลาย อาทิ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพคลองท่อมเมืองสปาน้ำพุร้อน การบริหารจัดการท่องเที่ยวเรือสำราญ โดยการปรับปรุงพิธีตรวจคนเข้าเมือง มาตรการเตรียมความพร้อมรองรับเหตุฉุกเฉิน มาตรการรักษาความปลอดภัย การพัฒนาบุคลากรรองรับธุรกิจเรือสำราญและการสนับสนุนธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเรือสำราญ และการเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวเชิงประเพณีและศิลปวัฒนธรรม การพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองเก่าและแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน การก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนภูเก็ตเพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวใหม่ ๆ อาทิ Sport complex ในจังหวัดภูเก็ต การแข่งจักรยานทางไกล Tour de Andaman 2018 การพัฒนาบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเลในแหล่งท่องเที่ยวหลัก การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบนบกบริเวณตอนในของภาค อาทิ สวนเฉลิมพระเกียรติ 90 พรรษามหาราชา และเส้นทางศึกษาธรรมชาติและประวัติศาสตร์ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า จังหวัดพัทลุง การบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์และศาสนสถานโดยรอบวัดพระธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช วัดพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โบราณสถานและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในจังหวัดภูเก็ต สงขลา และชุมพร โดยเชื่อมโยงกับการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นและเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น

1.6.2 การพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมัน โดยการจัดตั้งโรงงานสกัดเซรั่มน้ำยางพาราโดยความร่วมมือกับภาคเอกชนและสหกรณ์สวนยางในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา การส่งเสริมการศึกษาวิจัยน้ำมันยางพารา รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรรองรับการพัฒนานวัตกรรมจากการแปรรูปยางพารา ตลอดจนการส่งเสริมการตลาดระหว่างประเทศในสินค้ายางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง

1.6.3 การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรหลักของภาค โดยการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการปลูกยางพันธุ์ดีและไม้ยืนต้นทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรชาวสวนยาง การพัฒนาอุปกรณ์และระบบการวัดเปอร์เซ็นต์น้ำมันในผลปาล์มน้ำมัน รวมทั้งผลิตพันธุ์พืชคุณภาพดีกระจายให้เกษตรกรพร้อมกับถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิต อาทิ ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ไม้ผล การยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นเอกลักษณ์ของภาค อาทิ การพัฒนาข้าวพันธุ์สังข์หยด จังหวัดพัทลุง ยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP การเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม แปรรูปการเกษตร การเชื่อมโยงเครือข่ายในรูปแบบคลัสเตอร์ การขยายการตลาดสู่ประเทศเพื่อนบ้านโดยใช้โอกาสจากกรอบความร่วมมือระดับพหุภาคี อาทิ IMT-GT BIMP-EAGA และการยกระดับศักยภาพเกษตรกรสู่การเป็น smart entrepreneur

1.6.4 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการท่องเที่ยว การค้าการลงทุน และการอุตสาหกรรม โดยการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญจังหวัดภูเก็ตให้เป็น Home Port และก่อสร้างท่าเทียบเรือแวะพักในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั้งชายฝั่งอันดามันและอ่าวไทย อาทิ เกาะสมุย กระบี่ พังงา และสงขลา การก่อสร้างเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงท่าเรือสำราญและท่าเรือแวะพักกับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ตอนในที่มีศักยภาพ ปรับปรุงเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงสายรองระหว่างจังหวัด ก่อสร้างปรับปรุงถนนในพื้นที่เกาะพะงัน ภูเก็ต และถนนเลียบชายฝั่งทะเลชุมพรต่อเนื่องจาก the Royal Coast ของภาคกลาง เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวสู่พื้นที่ชายหาดและหมู่เกาะตอนบนของภาคในจังหวัดชุมพรและนครศรีธรรมราช การก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ให้แล้วเสร็จในปี 2562 ปรับปรุงด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ ระยะที่ 2 การเร่งรัดการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา การปรับปรุงท่าเทียบเรือสงขลา การก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมพร – สุราษฎร์ธานี –หาดใหญ่ – สงขลา และรถไฟทางคู่ช่วงหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและระบบป้องกันน้ำท่วมในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ การก่อสร้างสายเคเบิ้ลใต้น้ำไปยังเกาะเต่าและเกาะสมุย การขยายเขตบริการน้ำประปาในจังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต และตรัง รวมทั้งการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมในเมืองภูเก็ต เกาะสมุย เมืองกระบี่ และเมืองสุราษฎร์ธานี

2. ทิศทางการพัฒนาภาคใต้ชายแดน

2.1 ภาพรวม ภาคใต้ชายแดนมีพื้นที่ร้อยละ 2.1 ของประเทศ มูลค่าทางเศรษฐกิจร้อยละ 0.9 ของประเทศ เป็นภาคที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงทั้งภายในภาค และระหว่างภาค และประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรสำคัญของพื้นที่ โดยเฉพาะ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ประมง และไม้ผล มีอัตลักษณ์ความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ส่งผลให้ภาคใต้ชายแดนมีศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาทั้งทางด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้า และการท่องเที่ยว เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชนของพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ภาคใต้ชายแดนยังมีภาพลักษณ์ความไม่ปลอดภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมทั้งการกระจุกตัวของการท่องเที่ยวโดยเฉพาะบริเวณเมืองชายแดนของจังหวัดยะลาและนราธิวาส

2.2 ปัญหาและประเด็นท้าทาย ที่สำคัญได้แก่ การขยายตัวทางเศรษฐกิจและรายได้ต่อหัวประชากรต่ำ การผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมมีการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มน้อย ทรัพยากรประมงเสื่อมโทรมส่งผลต่อการทำประมง ปัญหาสุขภาพอนามัยของแม่และเด็กทารกที่มีอัตราการตายในระดับสูงจากการขาดความรู้ในการดูแลสุขอนามัยแม่และเด็กอย่างถูกต้อง กำลังแรงงานมีทักษะอยู่ในเกณฑ์ต่ำไม่สอดรับกับความต้องการของตลาด ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นฐานการผลิตเสื่อมโทรม การท่องเที่ยวยังไม่กระจายไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ได้มาตรฐานสำหรับรองรับการค้าชายแดน รวมทั้งการผลักดันให้มีการลงทุน อุตสาหกรรมเกษตรและธุรกิจบริการมูลค่าสูงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ และพัฒนาเมืองต้นแบบฯ ให้บรรลุเป้าหมายเพื่อให้เป็นฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงให้กับประชาชนในพื้นที่

2.3 ศักยภาพและโอกาส ภาคใต้ชายแดนมีศักยภาพและโอกาสที่เด่นชัดจากการเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลักของพื้นที่ โดยเฉพาะยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล รวมทั้งเป็นแหล่งทำการประมงที่สำคัญของประเทศ มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย เช่น ป่าบาลา – ฮาลา และเมืองท่องเที่ยวชายแดน อัตลักษณ์ความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และเป็นแหล่งอาหารที่มีชื่อเสียงของภาค ได้แก่ ไก่เบตง ผักน้ำ ปลากือเลาะห์ และปลากุเลา สามารถพัฒนาและยกระดับให้ได้มาตรฐานเพื่อสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว มีประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานในสัดส่วนที่สูงสามารถพัฒนาไปสู่กำลังแรงงานที่มีทักษะฝีมือ เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจในภาค มีเขตอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่สามารถดึงดูดผู้ประกอบการค้าการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถเชื่อมโยงการขนส่งทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง

2.4 แนวคิดและทิศทาง การพัฒนาภาคใต้ชายแดนจำเป็นต้องนำหลักการพัฒนาของโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” มาเป็นต้นแบบการพัฒนาและขยายผลการดำเนินงานโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร พัฒนาเมืองชายแดนให้เป็นเมืองการค้า และการท่องเที่ยวควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาภาคใต้ชายแดน “เป็นแหล่งผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สำคัญของประเทศ และเป็นเมืองชายแดนเชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยวกับพื้นที่ภาคใต้และการพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซียและสิงคโปร์” โดยมีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแนวทางการพัฒนา ดังนี้

2.4.1 วัตถุประสงค์

(1) เพื่อยกระดับการผลิตและการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรหลักของภาค

(2) เพื่อพัฒนาเมืองชายแดน (สุไหงโก-ลก และเบตง) ให้เป็นศูนย์กลางการค้าและการท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานของภาค และ

(3) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้ รวมทั้งยกระดับคุณภาพการศึกษาและสาธารณสุข

2.4.2 เป้าหมายและตัวชี้วัด

(1) มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเพิ่มขึ้น

(2) มูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น

(3) รายได้การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และ

(4) อัตราการตายมารดาและทารกลดลง

2.5 แนวงทางการพัฒนา 3 แนวทาง

2.5.1 พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับภาคการผลิต ได้แก่ เร่งพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตการเกษตร (ทั้งพืช ไม้ผล ประมง และปศุสัตว์) รวมทั้ง การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งเสริมการพัฒนา Smart Farmer การรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาการผลิต พัฒนาระบบตลาดกลางสินค้าเกษตร และระบบจำหน่ายแบบ E-Commerce ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยปรับระบบการผลิตเพื่อพึ่งพาตนเอง ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมการสร้างตราสินค้า (Brand) และพัฒนาพื้นที่อำเภอหนองจิกต่อเนื่องอำเภอเมืองปัตตานี ให้เป็นเขตอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมประมงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการปรับปรุงท่าเทียบเรือปัตตานีให้มีมาตรฐานเป็นต้น

2.5.2 พัฒนาเมืองสุไหงโก-ลก และเมืองเบตง ให้เป็นเมืองการค้าและเมืองท่องเที่ยวชายแดน โดยการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณด่านชายแดน ส่งเสริมธุรกิจการค้าชายแดน และการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนนราธิวาสเพื่อรองรับการค้าการลงทุน พัฒนาโครงข่ายคมนาคมให้มีความเชื่อมโยงและมีมาตรฐานทั้งทางบกและทางอากาศ อาทิ พัฒนาถนนสายหลักและสายรองให้มีมาตรฐาน เชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางและขนส่งทางรางกับประเทศมาเลเซีย พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้มี ภูมิทัศน์ สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการที่เพียงพอและได้มาตรฐาน ส่งเสริมกิจกรรมและรูปแบบการท่องเที่ยวที่หลากหลาย สนับสนุนการมีส่วนรร่วมของประชาชนในการให้บริการด้านการท่องเที่ยว เช่น ที่พัก (Eco Lodge) และมักคุเทศก์ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงอาหาร การเกษตร และการท่องเที่ยวชุมชน การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั้งภายในและนอกพื้นที่ เช่น เบตง – ปีนัง ส่งเสริมธุรกิจต่อเนื่องกับการท่องเที่ยวในเมืองท่องเที่ยวชายแดนตลอดห่วงโซ่คุณค่า อาทิ การบำบัดรักษาทางการแพทย์ด้วยสมุนไพรและน้ำพุร้อน โดยยกระดับมาตรฐานการบริการสู่สากลที่คำนึงถึงมาตรฐานสุขอนามัย บริการด้านการศึกษาศูนย์ดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองชายแดน โดยพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว สนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ในการรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว เป็นต้น

2.5.3 เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยพัฒนาและสนับสนุนทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด พัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษา อาทิ สนับสนุนการศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพ พัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอน และการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา เป็นต้น ขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ในชุมชน สร้างโอกาสในการเข้าสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้นหรือช่องทางการประกอบอาชีพ ส่งเสริมการพัฒนาสุขภาวะของประชาชนทุกวัย โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพของสตรีตั้งครรภ์และทักษะการเลี้ยงดูทารก เพิ่มประสิทธิภาพของสถานพยาบาลชุมชน พัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ส่งเสริมการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อพัฒนาและผลิตภัณฑ์ชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการออกแบบ ผลิต และการจัดการตลาด สร้างเอกลักษณ์ของสินค้า นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเพิ่มช่องทางการตลาด และการสร้างความเข้มแข็งในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข สร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวังความปลอดภัยในพื้นที่และชุมชน

2.6 แผนงาน / โครงการ : กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอแผนงาน / โครงการเบื้องต้นในการขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาภาคใต้ชายแดน ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) สรุปได้ ดังนี้

2.6.1 พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรเพื่อความมั่นคงให้กับภาคการผลิต โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเกษตร การขยายระบบประปา เขตไฟฟ้าให้พื้นที่การเกษตร การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรหลัก ขยายพื้นที่ปลูกเพื่อให้รองรับการเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมการเกษตรในพื้นที่ การส่งเสริมการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุน การส่งเสริมการปลูกข้าวพื้นเมืองอินทรีย์ การเพิ่มประสิทธิภาพกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรม ส่งเสริมการแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่า ได้แก่ การแปรรูปลองกองแบบครบวงจร ผลิตภัณฑ์น้ำลองกองพร้อมดื่ม การแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจากผักผลไม้ การพัฒนาการแปรรูปปลานิลน้ำไหล การพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการตลาด รวมทั้ง การดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ อาทิ การปรับปรุงแผงกันคลื่นและ ที่จอดพักเรือ ท่าเทียบเรือปัตตานี การก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองปัตตานี เป็นต้น

2.6.2 พัฒนาเมืองสุไหงโก-ลก และเมืองเบตงให้เป็นเมืองการค้าและ เมืองท่องเที่ยวชายแดน โดย

(1) พัฒนาพื้นที่จังหวัดนราธิวาสให้เป็นเมืองการค้าชายแดนและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ การก่อสร้างด่านศุลกากรบูเก๊ะตา ระยะที่ 3 การจัดหาที่ดินเพื่อขยายด่านบูเก๊ะตา การปรับปรุงบริเวณด่านศุลกากรสุไหงโก-ลกเพิ่มเติม การก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือด่านศุลกากรตากใบ การพัฒนาท่าอากาศยานนราธิวาส การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 ที่อำเภอสุไหงโก-ลก

(2) พัฒนาเมืองชายแดนเบตง จังหวัดยะลาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวชายแดน ที่สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ได้แก่ การพัฒนาท่าอากาศยานเบตง การพัฒนาเมืองตามผังเมืองเบตงระยะ 1 และ 2 การก่อสร้างสถานีขนส่งอำเภอเบตง การเพิ่มช่องทางจราจรทางหลวงหมายเลข 410 สายปัตตานี –เบตง ตอน ตะบิงติงงี – บ่อหิน ส่งเสริมการปลูกสมุนไพร การเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อความมั่นคงอาหาร และการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เช่น ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ชุมชนปิยะมิตร ป่าบาลาฮาลา และการสนับสนุนนักธุรกิจรุ่นใหม่เพื่อผลิตและส่งออก

2.6.3 เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ได้แก่ การสนับสนุนสถาบันการศึกษาในการพัฒนาอาชีพ การขยายสาขาวิชาการโรงแรมและการท่องเที่ยวให้กับสถาบันอาชีวศึกษา การสนับสนุนวิทยาลัยชุมชนให้มีบทบาทในการพัฒนาอาชีพ ขยายผลฟาร์มตัวอย่างและโครงการพระราชดำริ การเผยแพร่ความรู้การประกันสังคม การป้องกันโรคกลุ่มผู้ใช้แรงงาน การส่งเสริมสุขภาพและ การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแรงงานของหน่วยบริการในพื้นที่ ด้านการยกระดับคุณภาพชีวิต ได้แก่ การสร้างการรับรู้ทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชน การสนับสนุนที่อยู่อาศัยคนพิการ สนับสนุนเงินทุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด การพัฒนาตลาดชุมชน การพัฒนาอาชีพ รวมทั้งการสนับสนุนการอยู่ร่วมกับแบบสังคมพหุวัฒนธรรม ได้แก่ การบูรณะศาสนสถานและโบราณสถานสำคัญ จัดกิจกรรมวัฒนธรรมในพื้นที่ เช่น งานถือศีลกินเจ งานถนนสายวัฒนธรรม เป็นต้น

ทั้งนี้ แผนงาน / โครงการยังเป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นที่จะนำไปจัดทำเป็นแผนพัฒนาภาคใต้และภาคใต้ชายแดนแบบบูรณาการที่สมบูรณ์ ภายใต้กระบวนการและกลไกการพัฒนาพื้นที่เชิงบูรณาการระดับภาค 6 ภาค ที่จะมีการจัดตั้งขึ้นต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 พฤศจิกายน 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ