คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งภาคเหนือของกระทรวงคมนาคม (คค.) ตามที่ คค. เสนอ ซึ่งเป็นการสนับสนุนบทบาทและทิศทางการพัฒนาของภาคเหนือ เพื่อกระจายความเจริญและการพัฒนาให้มีความทั่วถึง รวมทั้งเพื่อให้ภาคเหนือเป็นฐานเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์มูลค่าสูง และเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ตามแนวทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ประกอบกับภาคเหนือมีระบบการคมนาคมขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างสมบูรณ์ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ โดยสามารถเดินทางเชื่อมโยงกันภายในภาค ระหว่างภาค และเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่ผ่านมา คค. มีผลการดำเนินงานที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางบก คค. ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางถนนในพื้นที่ภาคเหนือ รวมระยะทาง 25,506.28 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณรวมในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2557-2561 เป็นวงเงินรวม 115,179.440 ล้านบาท ผ่านการดำเนินโครงการต่าง ๆ เช่น
1.1 ดำเนินการก่อสร้างถนนเป็น 4 ช่องจราจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน เช่น ทางหลวงหมายเลข 12 แม่สอด - มุกดาหาร ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS)
1.2 ดำเนินการก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรที่มีสภาพการจราจรผ่านเมืองหลัก เช่น ถนนสายเลี่ยงเมืองสันป่าตอง - หางดง (จังหวัดเชียงใหม่)
1.3 พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองหลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง โดยขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรอยู่ระหว่างศึกษาการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดพิษณุโลก
1.4 อำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า การกระจายสินค้า และบริการสู่ตลาดการค้าทั้งภายในและนอกประเทศ
2. การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางราง โดยมีโครงการที่สำคัญ เช่น
2.1 โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เช่น ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ (คาดว่าจะลงนามในสัญญาจ้างได้ภายในต้นปี 2561) และช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย (คาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายในต้นปี 2561)
2.2 โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร [อยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาให้ความเห็น]
2.3 โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยจะเริ่มดำเนินการในระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ - พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร (ทั้งหมด 7 สถานี) ซึ่งขณะนี้คณะทำงานฝ่ายญี่ปุ่นได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ เสร็จแล้ว และได้เสนอรายงานฉบับสมบูรณ์ให้ฝ่ายไทยพิจารณาแล้ว โดยคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการได้ภายในต้นปี 2561 และเริ่มก่อสร้างได้ประมาณปี 2562
3. การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางน้ำ คค. โดยกรมเจ้าท่า ได้ดำเนินการขุดลอกและบำรุงรักษาแม่น้ำที่สำคัญในพื้นที่ภาคเหนือ ในช่วงระหว่างปี 2557 - 2561 รวมทั้งสิ้น 98 ร่องน้ำ รวมวงเงินงบประมาณ 597.494 ล้านบาท
4. การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางอากาศ คค. โดยกรมท่าอากาศยาน และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนาท่าอากาศยาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร และอากาศยาน เช่น
4.1 ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานแม่สอด แพร่ และเพชรบูรณ์
4.2 มีแผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ จากเดิมที่ในปัจจุบันสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ 8 ล้านคน/ปี รองรับเที่ยวบินได้ 24 เที่ยวบิน/ชั่วโมง จะพัฒนาให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี รองรับเที่ยวบินได้ 34 เที่ยวบินต่อชั่วโมงได้จนถึงปี 2578
4.3 มีแผนจะสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 (พื้นที่บริเวณ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ และ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน) โดยขณะนี้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศ และศึกษาความเหมาะสมในการดำเนินโครงการ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 ธันวาคม 2560--