มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ข่าวการเมือง Tuesday January 9, 2018 19:04 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการของมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแต่ละโครงการ

2. เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (คนส.) คณะอนุกรรมการติดตามการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (คอต.) คณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำจังหวัด (คอจ.) หรือ “ทีมหมอประชารัฐสุขใจ” รวมทั้งเห็นชอบในหลักการของการแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำอำเภอ (ทีม ปรจ.)

3. เห็นชอบมาตรการส่งเสริมให้พัฒนาตนเอง

4. เห็นชอบในหลักการของมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว กค. โดยกรมสรรพากรจะได้เสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ รวมทั้งประสาน ธนาคารกรุงไทย เพื่อดำเนินการรับชำระค่าจ้างผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่อไป

5. เห็นชอบให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินมาตรการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวม 6 มาตรการ 18 โครงการ และให้โครงการดังกล่าวเป็นโครงการธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account PSA)

6. อนุมัติงบประมาณเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 35,679,090,791 บาท ซึ่งประกอบด้วยรายการ ดังนี้

6.1 งบประมาณค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ซึ่งประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายของคณะกรรมการและคณะทำงาน (ตามข้อ 2) เช่น ค่าเบี้ยประชุม เป็นต้น และค่าตอบแทนลูกจ้างชั่วคราวของ ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. เพื่อปฏิบัติงานในโครงการ เป็นวงเงินไม่เกิน 2,999,167,723 บาท

6.2 งบประมาณสำหรับโครงการเพื่อรองรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ เป็นวงเงินไม่เกิน 6,774,409,868 บาท และงบประมาณสำหรับธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ในการดำเนินงานเป็นวงเงินไม่เกิน 12,033,000,000 บาท รวมเป็นวงเงินไม่เกิน 18,807,409,868 บาท

6.3 งบประมาณสำหรับค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่น ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด เป็นวงเงินไม่เกิน 13,872,513,200 บาท โดยจะใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายภายใต้กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

ทั้งนี้ งบประมาณให้แต่ละหน่วยงานทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. รายงานว่า ได้เสนอมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นมาตรการให้ความช่วยเหลือระยะที่ 2 แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. โครงสร้างการดำเนินงาน แบ่งการทำงานออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้ 1) คนส. มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 2) คอต. มีปลัด กค. เป็นประธาน 3) คอจ. จำนวน 77 ชุด กรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีปลัด กทม. เป็นประธาน ส่วนจังหวัดอื่น ๆ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน 4) ทีม ปรจ. จำนวน 878 ชุด กรณี กทม. มีผู้อำนวยการเขตเป็นประธาน ส่วนจังหวัดอื่น ๆ มีนายอำเภอ เป็นประธาน 5) ผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (Account Officer : AO) ได้แก่ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของ ธ.ก.ส. หรือธนาคารออมสิน

2. โครงการเพื่อรองรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นการบูรณาการโครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และ พณ. เป็นต้น เพื่อให้การพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นไปอย่างมีเอกภาพและมีความครบถ้วนสมบูรณ์โดยสร้างโอกาสในการพัฒนาใน 4 มิติ ประกอบด้วย มิติที่ 1 การมีงานทำ จำนวน 5 โครงการ มติที่ 2 การฝึกอบรมและการศึกษา 10 โครงการ มิติที่ 3 การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ จำนวน 11 โครงการ และมิติที่ 4 การเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐาน 8 โครงการ รวมทั้งสิ้น 34 โครงการ

2.1 มีโครงการที่ต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ จำนวน 6 โครงการ ดังนี้

1) โครงการเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (กษ.) 2) โครงการจ้างแรงงานชลประทานสร้างรายได้แก่เกษตรกร (กษ.) 3) โครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้และความมั่นคงในชีวิต (รง.) 4) โครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย (XYZ) (ธ.ก.ส.) 5) โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของผู้มีรายได้น้อยในระบบ ธ.ก.ส. 6) โครงการสนับสนุนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 (ธ.ก.ส.)

2.2 มีโครงการของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ที่ขอเป็นโครงการธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) รวม 6 มาตรการ 18 โครงการ ดังนี้

1) มาตรการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดย ธนาคารออมสิน รวม 3 มาตรการ 10 โครงการ ดังนี้

(1) มาตรการที่ 1 สินเชื่อ จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ สินเชื่อผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สินเชื่อ GSB Home Stay สินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ และสินเชื่อ Street Food

(2) มาตรการที่ 2 เงินฝาก จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษสวัสดิการแห่งรัฐ

(3) มาตรการที่ 3 การพัฒนา จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการ “มหาวิทยาลัยประชาชน” คลินิกสุขภาพทางการเงินเคลื่อนที่ การให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) พัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการแฟรนไชส์ร่วมกับ พณ. และบูรณาการแผนพัฒนากับหน่วยงานภาคี ในการพัฒนาอาชีพ

2) มาตรการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดย ธ.ก.ส. รวม 3 มาตรการ 8 โครงการ ดังนี้

  • มาตรการที่ 1 พัฒนาตนเอง จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ ให้ความรู้แก่เกษตรกรลูกค้าผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 และโครงการเงินฝากกองทุน ทวีสุข
  • มาตรการที่ 2 พัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย (XYZ) และโครงการ สินเชื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ
  • มาตรการที่ 3 ลดภาระหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของผู้มีรายได้น้อยในระบบ ธ.ก.ส. โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน ระยะที่ 3โครงการสนับสนุนสินเชื่อกองทุนหมู่บ้านและสถาบันการเงินชุมชนเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาหนี้นอกระบบ และโครงการสนับสนุนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2

3. มาตรการส่งเสริมให้พัฒนาตนเอง ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่แสดงความประสงค์จะพัฒนาตนเองในแบบประเมินและเมนูการพัฒนารายบุคคล จะได้รับวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่น ๆ ที่ พณ. กำหนด โดยในการดำเนินมาตรการฯ จะใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายภายใต้กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก วงเงินไม่เกิน 13,872,513,200 บาท ทั้งนี้ จะเริ่มได้รับในเดือนถัดไปหลังจากเดือนที่แสดงความประสงค์จนถึงเดือนธันวาคม 2561

4. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (กรมสรรพากร) เพื่อจูงใจให้นายจ้างที่เป็นนิติบุคคลจัดการฝึกทักษะฝีมือให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือพิจารณาจ้างงานผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นกรณีพิเศษโดยให้หักรายจ่ายเป็นจำนวน 1.5 เท่าของรายจ่าย ดังนี้

4.1 รายจ่ายที่นายจ้างได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการฝึกทักษะอาชีพให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

4.2 รายจ่ายที่นายจ้างได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยการจ่ายค่าจ้างผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เฉพาะรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในส่วนที่ไม่เกินร้อยละสิบชองจำนวนลูกจ้างในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ทั้งนี้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2561 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มกราคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ