เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และข้อเสนอการปรับโครงสร้างของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองซึ่งต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ
3. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
4. เห็นชอบให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 (เรื่อง การปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ) และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 (เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ)
5. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหารือร่วมกับกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการโอนภารกิจตามมาตรา 12 (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521 ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่น ๆ ให้เกิดความชัดเจน และให้ส่งผลการพิจารณาไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป
6. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับความเห็นของฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
1. ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
1.1 แก้ไขคำนิยาม “การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม” เพื่อให้ครอบคลุมการเพิ่มผลิตภาพและการใช้การพัฒนานวัตกรรมในทุกด้านและทุกระดับจากการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และแก้ไขคำนิยาม “รัฐวิสาหกิจ” เพื่อให้มีมาตรฐานในการปฏิบัติที่เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจเป็นไปในทิศทางเดียวกันของทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
1.2 ปรับปรุงองค์ประกอบ วาระ และการพ้นตำแหน่งของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (กก.สศช.) โดยเปลี่ยนกรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 1 ตำแหน่ง จากผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง เป็นปลัดกระทรวงการคลัง และเพิ่มกรรมการโดยตำแหน่ง 2 ตำแหน่ง ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ปรับปรุงหน้าที่ของ กก.สศช. ให้ครอบคลุมภารกิจงานด้านยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของ กก.สศช. ให้ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดยไม่เกิน 2 วาระ จากเดิมที่ไม่ได้กำหนดเรื่องจำนวนวาระไว้
1.3 ปรับปรุงหน้าที่ของ กก.สศช. ให้ครอบคลุมภารกิจงานด้านยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้ภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการจัดทำ ปฏิบัติ และติดตามประเมินผล แผนงาน โครงการพัฒนาต่าง ๆ
1.4 กำหนดให้มีคณะกรรมการพิเศษ และคณะกรรมการนโยบาย เพื่อรองรับภารกิจงานด้านยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ
1.5 ปรับปรุงหน้าที่ของ สศช. ปรับบทบาทหน้าที่ให้ครอบคลุมภารกิจงานด้านยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ เพื่อรองรับภารกิจที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงการรองรับบริบทที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาในอนาคต โดย สศช. จะดำเนินการเฉพาะภารกิจที่สนับสนุนการวางแผนนโยบายระดับชาติเป็นหลัก และถ่ายโอนภารกิจระดับปฏิบัติการในเรื่องที่เกี่ยวกับรายจ่ายประจำปีของรัฐวิสาหกิจไปยังหน่วยงานอื่นที่สามารถปฏิบัติได้ดีกว่า
1.6 กำหนดให้ สศช. สามารถจ้างบุคคล สถาบันการศึกษา หรือสถาบันที่มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาวิจัย เพื่อดำเนินการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภายใต้ระเบียบที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
1.7 กำหนดเรื่องค่าตอบแทน ค่าใช้จ่ายและประโยชน์อื่นใด ของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการทุกคณะในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
1.8 ปรับปรุงอำนาจนายกรัฐมนตรีในการออกระเบียบเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้
1.9 กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการถ่ายโอนภารกิจที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 12 (4) และมาตรา 12 (5) ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง (กค.)
2. ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. ....
2.1 กำหนดให้ สศช. มีภารกิจสอดคล้องกับการปรับปรุงหน้าที่ของ สศช. ตามที่ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กำหนด และครอบคลุมภารกิจที่ได้รับมอบหมายในฐานะเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูป เช่น การศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในช่วงระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการยกเลิกการจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดินในเรื่องที่เกี่ยวกับรายจ่ายประจำปีของรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น
2.2 กำหนดให้มีการแบ่งส่วนราชการของ สศช. โดยมี 20 กอง/สำนัก/ศูนย์ ซึ่งเป็นกองที่ขอจัดตั้งใหม่เพิ่มเติมจำนวน 4 กอง ได้แก่
(1) กองยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ
(2) กองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง
(3) กองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ และ
(4) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ และมีหน่วยงานขึ้นตรงต่อเลขาธิการ สศช. จำนวน 3 หน่วยงาน ได้แก่ กลุ่มตรวจสอบภายใน กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร และศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านทุจริต
2.3 กำหนดอำนาจหน้าที่ของกองที่ขอจัดตั้งใหม่จำนวน 4 กอง และปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของกองเดิม จำนวน 16 กอง เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับปรุงโครงสร้าง และภารกิจที่ได้รับมอบหมายเพิ่มเติม
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มกราคม 2561--