คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาในประเด็นปัญหาและความสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้รับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
1. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้กับการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการภายในประเทศ เว้นแต่บทบัญญัติในมาตรา 14 (การยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจและกระบวนพิจารณาของศาล) มาตรา 16 (การยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจให้มีคำสั่งใช้วิธีการชั่วคราว) มาตรา 43 (อำนาจศาลในการทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ) และมาตรา 44 (อำนาจศาลในการทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับ หากปรากฏว่าการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะขัดต่อความสงบเรียบร้อย) ให้ใช้บังคับไม่ว่าการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการจะทำขึ้นที่ใด
2. กำหนดบทนิยามคำว่า “การดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” หมายความว่า การดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ ดังต่อไปนี้
2.1 คู่สัญญาอนุญาโตตุลาการมีสถานประกอบการอยู่ในประเทศต่างกันในขณะทำสัญญา หรือ
2.2 สถานที่ใดสถานที่หนึ่งดังต่อไปนี้ตั้งอยู่นอกประเทศที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสถานประกอบการอยู่
(1) สถานที่ในการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือตามข้อตกลงให้ใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการ หรือ
(2) สถานที่การปฏิบัติการชำระหนี้ในส่วนสำคัญของการค้าหรือการลงทุนระหว่างประเทศ หรือสถานที่ที่ใกล้ชิดกับมูลเหตุที่พิพาทมากที่สุด
2.3 คู่สัญญาได้ตกลงไว้โดยชัดแจ้งว่าข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับประเทศมากกว่าหนึ่งประเทศ หรือให้ถือว่าการดำเนินการอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นตามสัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นเรื่องระหว่างประเทศ หรือ
2.4 การดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้นทำเป็นภาษาต่างประเทศ
3. กำหนดให้ประธานศาลฎีกาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
4. กำหนดเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของอนุญาโตตุลาการและผู้รับมอบอำนาจชาวต่างชาติในการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในประเทศไทย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มกราคม 2561--