คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 (เรื่อง ร่างมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น) เพื่อปรับปรุงมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สำหรับภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากกการดำเนินงานให้ดำเนินการในลักษณะบูรณาการ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณต่อไปตามความความเห็นของสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ ให้ ทส.รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย รวมทั้ง ให้ ทส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นให้แก่สาธารณชนทราบอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เป็นพาหะของโรค มีอันตรายต่อชีวิตมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
1. มาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (พืช สัตว์ จุลินทรีย์) ที่รุกรานเข้ามาแล้วและยังไม่เข้ามาในประเทศไทยที่มีอยู่เดิมไม่ครอบคลุมการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่น และชนิดพันธุ์ต่างถิ่นมีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพ ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานประเทศไทยในปัจจุบันและแนวทางการดำเนินการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในระดับนานาชาติ ทส. จึงได้ปรับปรุงมาตรการและแนวทางปฏิบัติใหม่โดยเพิ่มเติมแนวทางปฏิบัติสำหรับชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานที่ถูกระบุว่าเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สามารถส่งเสริมในเชิงเศรษฐกิจได้ รวมถึงการปรับปรุงทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ควรป้องกัน ควบคุม กำจัดของประเทศไทย รายการที่ 1 – 4 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมทั้งเพิ่มเติมแนวทางการควบคุมหรือกำจัดชนิดพันธุ์ที่มีลำดับความสำคัญสูง ทั้งนี้ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานที่เกี่ยวกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
2. (ร่าง) มาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ประกอบด้วย 5 มาตรการ ดังนี้
มาตรการที่ 1 กำหนดนโยบาย แผน กฎหมาย และงบประมาณ
มาตรการที 2 การบริหารจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่น
มาตรการที่ 3 การเฝ้าระวังและติดตามชนิดพันธุ์ต่างถิ่น
มาตรการที่ 4 การสนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น
มาตรการที่ 5 การเผยแพร่ สร้างความตระหนักและให้ความรู้ในเรื่องของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น
3. (ร่าง) แนวทางการควบคุมหรือกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีลำดับความสำคัญสูงของประเทศไทย จำแนกเป็น
(1) ชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่นที่มีลำดับความสำคัญสูง จำนวน 11 ชนิด ได้แก่ ไมยราบยักษ์ หญ้าขจรจบดอกเล็ก หญ้าขจรจบดอกใหญ่ หญ้าขจรจบดอกเหลือง ผักตบชวา จอมหูหนูยักษ์ กระถินหางกระรอก ขี้ไก่ย่าน ต้นสาบหมา กกช้าง และธูปฤาษี และ
(2) ชนิดพันธุ์สัตว์ต่างถิ่นที่มีลำดับความสำคัญสูง จำนวน 12 ชนิด ได้แก่ ไส้เดือนฝอยรากปม แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล หอยทากยักษ์แอฟริกา หอยเชอรี่ หอยเชอรี่ยักษ์ ปลากดเกราะหรือ ปลาซัคเกอร์ฯ ปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน เต่าแก้มแดง และหนูท่อ มีแนวทางปฏิบัติ 4 แนวทาง ดังนี้
3.1 จัดทำทะเบียนจัดลำดับความสำคัญและกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันควบคุมกำจัดและ/หรือใช้ประโยชน์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นและชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานในพื้นที่อนุรักษ์พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและในระบบนิเวศต่าง ๆ
3.2 รวบรวมศึกษาวิเคราะห์ เส้นทางและ/หรือวิธีการที่สำคัญในการแพร่ระบาดของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาในประเทศไทย การประเมินความเสี่ยงและดำเนินมาตรการในการจัดการเส้นทางและ/หรือวิธีการแพร่ระบาด
3.3 ส่งเสริมการศึกษาวิจัยด้านการนำชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานหรือมีแนวโน้มรุกรานไปใช้ประโยชน์
3.4 เผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นและเสริมสร้างสมรรถนะให้กับหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนให้สามารถให้ข้อมูล ตรวจสอบ ป้องกัน เฝ้าระวัง ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานเส้นทางการเข้ามาของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น และการลักลอบนำเข้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่น
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561--